ความคิด ความขัดแย้ง เสรีภาพ และการเจรจา บทเรียนบนโลกใบนี้

24 ต.ค. 2564 | 09:01 น.

ความคิด ความขัดแย้ง เสรีภาพ และการเจรจา บทเรียนบนโลกใบนี้ : เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่(.ศูนย์) โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,725 หน้า 5 วันที่ 24 - 27 ตุลาคม 2564

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่คนในสังคมจะมีข้อพิพาท และไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่คนในสังคมจะยืนอยู่คนละฟาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความขัดแย้งจึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสังคมดังภาษิตกฎหมายที่ว่า “ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย (Ubi societas, ibi jus)” อย่างไรก็ดี ความสวยงามของความขัดแย้งก็ปรากฏขึ้นทุกครั้ง หรือจะพบเห็นเป็นประจำว่า ความขัดแย้งนำมาซึ่งการพัฒนา แต่ความขัดแย้งนั่นเป็นความขัดแย้งที่มิได้ยืนอยู่บนความรุนแรงแต่อย่างใด

แม้ว่าพัฒนาการของสังคมมีมาอย่างยาวนาน และทุกครั้งที่มีความขัดแย้ง สังคมก็จะสร้างกลไกแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่างๆ แต่จะจบด้วยดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากบทสรุปนั้น ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่พอใจมากกว่าเสมอ ความขัดแย้งก็จะหายไปสักพักหนึ่ง และก็ปะทุขึ้นเป็นข้อพิพาทรอบใหม่ ซึ่งเป็นวัฏจักรความขัดแย้งที่มีความเป็นอนันตกาล ตราบใดที่มีมนุษย์ตั้ง แต่ 2 คนเป็นต้นไป

ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในสังคม และมีตัวอย่างให้เห็นอย่างนับไม่ถ้วน คือ ความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งหมายรวมถึงความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อทางการเมืองความเชื่อทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความเชื่อในตัวบุคคล ความเชื่อบางครั้งไม่ใช่เหตุผล หากแต่เป็น การเติมเต็มความต้องการของมนุษย์ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความต้องการเป็นความขัดแย้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุด 

 

สงครามครูเสดเป็นการต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน ชาวคริสต์และชาวมุสลิมสู้รบกันกินระยะ เวลาเป็นร้อยปี ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ขึ้นกับช่วงไหนใครอ่อนแอแต่สุดท้ายก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทั้งสองฝั่ง มิได้มีใครเลยที่ได้ประโยชน์จากการสู้รบครั้งนี้ การรามือของทั้งคู่จึงเป็นการจบสงครามด้วยความอ่อนแรง แต่การต่อสู้ของชาวคริสต์และชาวมุสลิมก็ยังเป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องตราบจนถึง ณ เวลาปัจจุบัน

สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ของสหรัฐ อเมริกาก็เป็นอีกตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อปกป้องปัจจัยทางเศรษฐกิจการเลิกทาสของสหรัฐฯ เป็นการต่อสู้เพื่อให้ทาสมีสิทธิและเสรีภาพดั่งเช่นเป็นมนุษย์ แต่จริงๆ แล้ว สงครามนี้เป็นสงครามทางความคิดระหว่างพวกอนุรักษ์นิยมและพวกเสรีนิยม สงครามจบลงด้วยความยับเยินทางเศรษฐกิจของฝ่ายใต้ โดยเฉพาะเกษตรกรรมที่ทำให้รัฐทางใต้กลายเป็นรัฐที่ยากจนไปร่วมร้อยปี แต่สงครามครั้งนี้ก็ทำให้รัฐฝ่ายเหนือมีอำนาจนำประเทศสหรัฐอเมริกามาจนวันนี้ มิได้เป็นการกล่าวเกินจริงว่า วิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ เป็นผลผลิตจากสงครามกลางเมืองโดยแท้

 

สงครามปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อสร้างสังคมใหม่ ด้วยการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ทำให้ฝรั่งเศสเดินเข้าสู่กลียุค แต่ชนชั้นนำและชนชั้นปกครองที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนเดินถนนทั่วไปก็บังเกิดให้ความไม่พอใจแพร่สะพัดไปยังบรรดาพลเมืองที่มิได้มีฐานันดรใดๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพเป็นสรณะและเป้าหมายของการปฏิวัติ การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ของฝรั่งเศสก็เป็นโดมิโนตัวแรกของการมลายสิ้นของระบอบเดียวกันในประเทศต่างๆ เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับฝรั่งเศส คือ ที่มาของคำว่าฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายก็มาจากที่นั่งในสภาที่สะท้อนความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างอนุรักษ์นิยมและหัวก้าวหน้า แต่ตระหนักไว้เป็นอุทาหรณ์สักนิดว่า การปฏิวัติก็ให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับที่คาดหวังไว้แต่แรกเริ่ม

 

ความคิด ความขัดแย้ง เสรีภาพ และการเจรจา บทเรียนบนโลกใบนี้

 

การเช่นฆ่าชาวยิวทั่วภูมิภาคในทวีปยุโรปของทหารนาซีแห่งประเทศเยอรมนีก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดความขัดแย้งในเชื้อชาติอันบริสุทธิ์กับเชื้อชาติที่ชั่วร้ายที่ปลุกระดมและเติมไฟแห่งความขัดแย้งทบเท่าทวีคูณของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็นำพาไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครจะลืมเลือนได้ และทุกครั้งที่ระลึกนึกถึงก็จะต้องพบกับความเศร้าในใจทุกคราไป ความทรมานที่เกิดขึ้นกับชนชาติชาวยิวอาจจะรุนแรงกว่าผลลัพธ์แห่งความเสียหายของสงครามโลกครั้งที่สองก็เห็นจะเป็นไปได้ และอย่า ลืมว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นผู้นำที่ถือกำเนิดเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งแต่ก็ถอดเสื้อคลุมปกปิดความเป็นเผด็จการแห่งตัวตนในภายหลังเมื่อได้เสพอำนาจจนติดไปเสียแล้ว

การปกครองเขมรโดยเขมรแดงก็นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราต้องตระหนักว่า แม้แนว คิดทางการเมืองและการปกครองจะดูดี ประหนึ่งว่า อุดมการณ์จะนำไปสู่ผลเลิศของการปกครอง แต่สำหรับเขมรแล้ว แผ่นดินกลายเป็นทุ่งสังหาร ปัญญาชนและผู้บริสุทธิ์ถูกกำจัดทิ้งเพียงเพราะไม่เล็งเห็นคุณค่าของแนวคิดคอมมิวนิสต์ของท่านผู้นำ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชากลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซ่อนรูปที่อำมหิตในที่สุด จนบัดนี้ ซากปรักหักพังยังคงทิ้งร่องรอยไว้ที่ผืนแผ่นดินของเขมรให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงความขัดแย้งที่นำมาซึ่งความเสียหายที่นับค่ามิได้

หากท่านหันกลับมามองที่บ้านเรา เราได้ผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เราไม่เคยได้เรียนรู้ประวัติ ศาสตร์เลยแม้แต่ครั้งเดียว เราพร้อมที่ จะหํ้าหั่นกันทุกครั้งที่เรามีความ คิดไม่ตรงกัน เรื่องจริงสำหรับหลายคนที่เชื่อว่า การพัฒนาแบบก้าวกระโดดต้องผ่านสงครามกลางเมืองที่ล้างทิ้งซึ่งพวกที่มีความเชื่อล้าหลัง เช่นเดียวกับการปฏิบัติฝรั่งเศส เช่นเดียวกับการยึดมั่น ในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของโซเวียตเช่นเดียวกับการล้มลางจารีตประเพณีดั้งเดิมของลัทธิ เหมาหรือแม้แต่การเชื่อในความเท่าเทียมกันของประชาชนเต็มขั้น

แต่นับเป็นความโชคดีที่ทุกครั้งที่เราผ่านความขัดแย้ง ความเสียหายมิได้ทำให้เราต้องเดินถอยหลัง เราเลยไม่เคยมีบาดแผลที่เกิดขึ้นจากสงครามทางความคิด ภัยคอมมิวนิสต์หายไปเพราะรัฐต้อนรับเขาเหล่านั้นกลับบ้าน ภัยจากโจรแบ่งแยกดินแดนเพราะรัฐสลายเงื่อนไขการเรียกร้อง และวันที่รัฐกลายเป็นคู่กรณีโดยตรง ความขัดแย้งก็ถูกระงับลงด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ 

ด้วยรูปแบบและกลไกทางการเมืองที่เรามี แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยความขัดแย้งแบบไหน การเจรจาเป็นหนทางเดียวของการระงับข้อพิพาท และทุกครั้ง กลไกของประเทศไทยก็มีผลสัมฤทธิ์เสมอ หากต้องการบั่นเซาะทำลายความแข็งแกร่งของประเทศไทย ก็จงทำลายกลไกต่างๆ เสียให้สิ้นเสมือนที่หลายๆ ประเทศทำสำเร็จ 

การทำลายประเทศไทยก็ต้องเริ่มจากศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติเป็นต้นทาง สามสถาบันหลักของไทยทุกวันนี้ถูกกัดกร่อนจนผุพังด้วยภัยแห่งความเชื่อที่เกิดจากข้อมูลแห่งความเท็จ ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ได้ถูกคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่บางคนใช้เป็นข้ออ้างปลุกปั่นและปลุกระดมให้เกลียดชังหรือเป็นศัตรูกับประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย

ข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นับเป็นข้อเรียกร้องที่งดงามที่สุดที่มิได้มีความเห็นแตกต่างเลย แต่มิใช่การออกแบบกลไกใหม่เพื่อทำลายความแข็งแกร่งของประเทศ การเริ่มเจรจาอย่างมีอารยะจะนำไปสู่ความสำเร็จของข้อเรียกร้อง จงตระหนักไว้ว่า ความคิด ความขัดแย้ง เสรีภาพ เกิดจากการเจรจา มิใช่สงคราม และตระหนักให้ยิ่งว่า “อย่าให้อำนาจ เปลี่ยนถ่าย ย้าย โอน จากสถาบันกษัตริย์ไปสู่สถาบันกษัตริย์ซ่อนรูป” เป็นอันขาด