โอกาสร่วมทางเศรษฐกิจระหว่าง“จีน-ไทย”

01 ม.ค. 2566 | 01:00 น.

โอกาสร่วมทางเศรษฐกิจระหว่าง“จีน-ไทย” : บทความโดย พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3848

 

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอบทวิเคราะห์เชิงวิชาการเกี่ยวกับแนวทางการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน กับยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” และ “นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของไทย เพื่อสร้างโอกาสร่วมทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับจีน 


ทั้งนี้ เนื่องจาก BRI เป็นยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ที่ฟื้นเส้นทางสายไหมเดิมที่เชื่อมจีนกับเอเชียกลางไปสู่ยุโรป เป็นการเชื่อมโยงทางบกแบ่งออกเป็น 3 แถบ ได้แก่ (1) จากจีน ไปสู่เอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป (2) จากจีน เข้าเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เพื่อไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (3) จากจีนเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยที่ลงมาด้านใต้จึงมีจุดเชื่อมต่อที่ไทย 

 


นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นการพัฒนาต่อจากเส้นทางเดิมหลายร้อยปีก่อน โดยออกจากทางตะวันออกของจีน ลงทางทะเลจีนใต้ สู่มหาสมุทรอินเดีย ไปยุโรป จึงทำให้มีประเทศที่อยู่บนเส้นทาง BRI จำนวน 65 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ กับ มองโกเลียอีก 1 รวม 11 ประเทศ เอเชียตะวันตก 18 ประเทศ เอเชียใต้ 8 ประเทศ เอเชียกลาง 5 ประเทศ ยุโรป 7 ประเทศ ตะวันออกกลาง 10 ประเทศ และอีก 60 ประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเมื่อรวมกับประเทศจีนผู้ริเริ่ม เป็น 66 ประเทศ 

 

โดยการดำเนินการที่จะทำให้ BRI มีความเชื่อมโยงกับโลกใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) เชื่อมโยงนโยบาย (2) สาธารณูปโภค (3) การค้า (4) การเงิน และ (5) ประชาชน ซึ่งในด้านแรก แต่ละประเทศมียุทธศาสตร์การพัฒนาของตัวเอง จีนจึงมีนโยบายที่สร้างความเชื่อมโยงในระดับนโยบายของรัฐ 


ส่วนในด้านที่สอง เน้นไปที่ความเชื่อมโยง (Connectivity) ของโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงความเชื่อมโยงในทุกช่องทางทั้งทางอากาศ ทางน้ำ 


สำหรับด้านที่สาม ความเชื่อมโยงด้านไอทีและโลจิสติกส์ ในขณะที่ด้านที่สี่ ความเชื่อมโยงทางการค้า ซึ่งจีนได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น กลุ่มอาเซียน รวมไปถึงข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี 


และในด้านที่ห้า ความเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คนจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวมากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ซึ่งจะทำให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อันเป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อมโยงใน 5 ด้าน


ในขณะที่หลักการของ BRI ใน 3 ประการ ได้แก่ (1) การร่วมกันหารือหรือการร่วมกันคิด (2) การร่วมสร้างสรรค์หรือการร่วมกันทำ และ (3) การร่วมกันแบ่งปัน โดยที่ไม่ใช่จีนฝ่ายเดียวที่ขับเคลื่อน แต่เป็นความร่วมมือของทุกประเทศที่ต้องร่วมกัน เพื่อทำให้โครงการเป็นผลทางรูปธรรม ร่วมกันสร้าง ร่วมกันลงทุนลงแรง และแบ่งปันผลสำเร็จในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของโครงการ BRI ด้วยเหตุด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ใน 4 ประการ กล่าวคือ


1. เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลทางใต้ เพราะเป็นเส้นที่ต้องผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


2. เป็นพื้นที่ที่จีนตั้งเป้าหมายเชื่อมโยง 6 เส้นทางหลัก ซึ่งมี 2 เส้นทางที่ผ่านไทย เชื่อมโยงกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Mekong Sub-region) และขึ้นไปทางบังกลาเทศ


3. มีพื้นฐานความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือที่ดี


4. แต่ละประเทศมีนโยบายที่ใกล้เคียงกับ BRI จึงมีความเชื่อมโยงกันโดยพื้นฐาน


สำหรับความเชื่อมโยงของ BRI กับประเทศไทยนั้น มี 5 ด้านเช่นกัน ได้แก่


1. ด้านนโยบายระดับรัฐ


2. ด้านนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง 


3. ด้านการค้า ที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจโลกผันผวนแต่การค้าระหว่างไทยจีนมีการเติบโตต่อเนื่อง  


4. ด้านการเงิน มีการจัดสรร จัดหาเงินทุนระหว่างประเทศ ให้บริการการเงินข้ามประเทศ เช่น ธนาคารกรุงเทพที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน มีการให้บริการเงินหยวน 


5. ด้านประชาชน ซึ่งคนจีนและคนไทยต่างสามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน มีความสัมพันธ์กันในระดับประชาชน

                                 โอกาสร่วมทางเศรษฐกิจระหว่าง“จีน-ไทย”
นอกจากนี้ ดร.ถัง ฉีฟาง นักวิจัยความร่วมมือจีน-อาเซียน จาก China Institute of International Studies ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองสังกัดกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้วิเคราะห์ว่า เมื่อทาบโครงการ BRI ลงบนยุทธศาสตร์ EEC ของไทย จะพบว่า มีประเด็นที่สามารถร่วมมือกันได้อย่างลงตัว โดย EEC ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ 132.66 ตารางกิโลเมตร ประชาชนในพื้นที่ 2.88 ล้านคน 


โดยที่ EEC มีจุดเด่นหลายประการ เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ การมีการปรับผังเมือง เพื่อเชื่อมโยงทางด้านภูมิศาสตร์ให้มีการพัฒนาที่สมดุล เพราะปัจจุบันภาคตะวันออกเป็นพื้นที่มีการพัฒนาที่ดีที่สุดในไทย ซึ่ง EEC เป็นแพลตฟอร์มการปฏิรูปเศรษฐกิจของไทยและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 โดย


ประการแรก EEC กับ BRI สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งในระดับนโยบายและระดับอุตสาหกรรม โดยในด้านนโยบายนั้น เมื่อเทียบเคียงสาระของนโยบายแล้ว พบว่า Thailand 4.0 ของไทยมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับนโยบาย Made in China 2025 ที่มีเป้าหมายตรงกัน คือ ปรับเปลี่ยนจากการลงทุนที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ไปสู่การส่งเสริมการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และ 13 ของไทย ก็ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นจุดร่วมทางยุทธศาสตร์การดำเนินงานสำคัญในอนาคต


ประการที่สอง ความเชื่อมโยงในด้านอุตสาหกรรม พบว่า หลายอุตสาหกรรมใน Thailand 4.0 กับ Made in China 2025 มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยใน 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทยแลนด์ 4.0 นั้น มุ่งการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ขณะที่ Made in China 2025 ก็มุ่งอุตสาหกรรมไอทีรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน 
เมื่อไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสนับสนุนการแพทย์ยุคใหม่ Made in China 2025 ก็มุ่งสนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ เป้าหมายการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Hi-end ของไทย ก็เชื่อมโยงได้กับการเดินทางขับรถมาท่องเที่ยวของคนจีนที่มีรายได้สูง เป็นต้น


 (ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.acegoec.com/display.php?id=4201 และเว็บไซต์ https://cdo.develpress.com/?p=6980 )