เริ่มแล้วรัฐพิธีศพ "ชินโซ อาเบะ"ที่กรุงโตเกียว ผู้นำนานาชาติเข้าร่วมอาลัย

27 ก.ย. 2565 | 06:05 น.

รัฐพิธีศพนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ถูกลอบสังหารเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มขึ้นแล้ววันนี้ (27 ก.ย.) ในกรุงโตเกียว โดยมีอาคันตุกะนานาชาติกว่า 700 คนเข้าร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

รัฐพิธีศพ ของ นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ (27 ก.ย.) ที่สนามกีฬาในร่มนิปปอน บูโดกัน (Nippon Budokan) ในกรุงโตเกียว ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด โดยนายอาเบะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากถูกคนร้ายบุกเดี่ยวลั่นไกปืนสังหารในระยะประชิดในระหว่างที่เขากำลังกล่าวปราศรัยหาเสียงให้ลูกพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party หรือแอลดีพี) ที่จังหวัดนารา


สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รถที่นำอัฐิของนายอาเบะได้เดินทางออกจากบ้านของครอบครัวนายอาเบะมาถึงสถานที่จัดงานแล้ว โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปีที่ญี่ปุ่นจัดรัฐพิธีศพให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี

 

อ่านเพิ่มเติม: เปิดปมสังหาร"ชินโซ อาเบะ"แม่ผู้ก่อเหตุบริจาคเงิน 100 ล้านเยนแก่ลัทธิมูน

รัฐพิธีศพนายอาเบะเริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ (27 ก.ย.)

รัฐพิธีศพของนายอาเบะเริ่มขึ้นในเวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (เวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว เร็วกว่าเวลาไทยประมาณ 2 ชั่วโมง) โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ และนายโยชิฮิดะ ซูงะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ให้การสนับสนุนนายอาเบะมาโดยตลอด จะขึ้นกล่าวสดุดีนายอาเบะในรัฐพิธีครั้งนี้


สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีบุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้าร่วมรัฐพิธีศพนายอาเบะมากกว่า 700 คน ซึ่งรวมถึงนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายแอนโทนี อัลบานีส นายกฯออสเตรเลีย และนายโธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หากรวมบรรดาแขกผู้มีเกียรติอื่นๆ ก็คาดว่าน่าจะมีจำนวนราว 4,300 คนที่เดินทางมาร่วมพิธี

 

ขณะที่ ส.ส.จากพรรคฝ่านค้านหลักของญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมด้วย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พิธีในวันนี้ทำให้หวนนึกถึงรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มักใช้รัฐพิธีศพเป็นเครื่องมือจุดกระแสชาตินิยม

รถเคลื่อนศพของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ

 

อย่างไรก็ตาม นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า นายอาเบะ ซึ่งเป็นอดีตนายกฯที่รั้งเก้าอี้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น “คู่ควร” ที่จะได้รับเกียรตินี้ และรัฐบาลไม่ได้มีเจตนา “บังคับ” ให้ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันเชิดชูนายอาเบะ

 

ขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารประจำจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่นจะมีการลดธงครึ่งเสา และยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยให้กับอดีตนายกฯ ในช่วงที่จัดพิธีด้วย

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียร้อย รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดรัฐพิธีศพในครั้งนี้ ได้ระดมกำลังตำรวจราว 20,000 นายรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าเป็นเงินภาษีประชาชนที่ถูกนำมาใช้ในการจัดงาน

กลุ่มผู้ประท้วงคัดค้านการจัดรัฐพิธีศพนายชินโซ อาเบะ

รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดในกรุงโตเกียวเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านรัฐพิธีศพ ขณะที่ชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนมากยืนต่อคิวเพื่อนำช่อดอกไม้ไปวางไว้อาลัยให้แก่อดีตผู้นำที่บริเวณสวนสาธารณะคุดันซากะ (Kudanzaka Park) ใกล้กับสนามกีฬา นิปปอน บูโดกัง ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดรัฐพิธีศพของนายอาเบะ

 

เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะยืนเรียงแถวบนถนนรอบๆ สนามกีฬานิปปอนบูโดกัง และ 20 นายจะทำหน้าที่เป็น “กองอารักขาเกียรติยศ” ระหว่างที่ครอบครัวของนายอาเบะเดินทางออกจากบ้านพัก จากนั้นจะมีการยิงสลุต 19 นัดเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึง

 

พิธีการเริ่มขึ้นเมื่อนางอากิเอะ อาเบะ ภรรยาม่ายของอดีตนายกฯ เดินเข้าสู่พิธีพร้อมกับโถบรรจุอัฐิที่บรรจุอยู่ในกล่องไม้ จากนั้น ผู้แทนรัฐบาล รัฐสภา และฝ่ายตุลาการ ซึ่งรวมถึงตัวนายกฯ คิชิดะ จะขึ้นกล่าวคำอาลัย ตามด้วยภริยาของนายอาเบะ

 

ข่าวระบุว่า ศพของนายอาเบะได้รับการฌาปนกิจที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งก็เป็นช่วงเพียงไม่กี่วันหลังจากที่เขาถูกคนร้ายลอบสังหารเมื่อวันที่ 8 ก.ค.

 

อ่านเพิ่มเติม: เปิดปากมือสังหารชินโซ อาเบะ “ผมตั้งใจฆ่าเขา”

 

 

สัปดาห์นี้ นายคิชิดะ นายกฯญี่ปุ่น ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับผู้นำต่างชาติหลายคนโดยเรียกมันว่าเป็น “การทูตผ่านรัฐพิธีศพ” (funeral diplomacy) และหวังจะใช้โอกาสนี้กระชับความร่วมมือกับนานาชาติในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นเองกำลังเผชิญปัญหาท้าทายหลายด้าน ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามจากจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

 

คิชิดะ มีกำหนดหารือร่วมกับผู้นำต่างชาติราว 40 คนไปจนถึงวันพุธนี้ (28) ทว่าไม่มีผู้นำจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7

 

นายคิชิดะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่ดึงดันจะจัดรัฐพิธีศพให้ได้ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งรัฐบาลยังเผชิญข้อครหาเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) หรือลัทธิมุนนีส์จากเกาหลีใต้ ซึ่งถูกมองว่ามีพฤติกรรม “ล้างสมอง” เหล่าสาวกเพื่อเรียกเก็บเงินบริจาคจำนวนมหาศาล อันเป็นที่มาของจุดจบอันน่าเศร้าของนายอาเบะในครั้งนี้ด้วย