มือสังหาร "ชินโซ อาเบะ” เผยแล้ว ปมปริศนาทำไมต้องฆ่า

11 ก.ค. 2565 | 09:15 น.

มือสังหารนายชินโซ อาเบะ สารภาพต่อตำรวจถึงแรงจูงใจชวนสะพรึงในการลั่นไก เขาเชื่อว่า "ตา” ของนายอาเบะ ซึ่งเป็นอดีตนายกฯญี่ปุ่นระหว่างปี 2500-2503 เป็นผู้ที่นำ "ลัทธิมูน" ที่เขาเกลียดชังและทำให้ครอบครัวของเขาต้อง “พังทลาย” เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่น แค้นนี้จึงมาลงที่หลาน

สำนักข่าวเกียวโด สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานอ้างอิงแหล่งข่าววันนี้ (11 ก.ค.) ว่า ตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า นายเท็ตสึยะ ยามากามิ วัย 41 ปี ผู้ลั่นไกสังหาร นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.) ได้หลงเชื่อข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ทำให้เขานำความเกลียดชังที่มีต่อคุณตาของนายอาเบะ คือ นายโนบุสุเกะ คิชิ อดีตนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2500-2503) ไปลงกับนายอาเบะผู้เป็นหลาน นำไปสู่การลงมือลอบสังหารนายอาเบะในระหว่างการกล่าวปราศรัยหาเสียงให้ลูกพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่เมืองนารา ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญช็อกคนทั้งโลก  

 

นายยามากามิ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล (เทียบเท่าทหารเรือ) ของญี่ปุ่น อธิบายว่า แม่ของเขาเป็นผู้ศรัทธาใน “ลัทธิมูน”  ซึ่งเธอได้บริจาคเงินเป็นจำนวนมากให้กับลัทธิดังกล่าว จนทำให้ครอบครัวต้อง "พังทลาย" และการที่เขาเลือกนายอาเบะเป็นเป้าหมาย ก็เพราะเชื่อว่า นายอาเบะมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มลัทธิดังกล่าว นายยามากามิยืนยันว่า การก่อเหตุลอบยิงครั้งนี้ ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด

นายโนบุสุเกะ คิชิ (นั่งโซฟา) อดีตนายกฯญี่ปุ่น กับด.ช.ชินโซ อาเบะ (นั่งตัก) หลานตา

ข่าวระบุว่า ปัจจุบันยามากามิไม่ได้ทำงานอะไร หลังลาออกจากกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลซึ่งเขาร่วมงานระหว่างปี 2545-2548 เขาก็ได้งานที่โรงงานแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโต และทำอยู่ประมาณปีครึ่ง เนื่องจากมีใบอนุญาตขับรถฟอร์กลิฟท์ จึงได้ทำงานในตำแหน่งขนส่งลำเลียงสินค้า ซึ่งผู้ร่วมงานเปิดเผยว่า ยามากามิเป็นคนไม่ค่อยพูด ถ้าไม่มีการพูดคุยเรื่องงานก็มักจะเก็บตัว ไม่คุยเรื่องส่วนตัวให้ใครฟัง ถึงเวลาอาหารกลางวันก็มักจะกินอาหารคนเดียวเงียบๆ แต่ก็ดูเป็นปกติดี ออกจะเป็นคนสุภาพด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ระยะหลัง ๆ เริ่มมีพฤติกรรมที่ดูผิดแปลกไป ทำให้ผู้ร่วมงานสังเกตเห็นว่า ยามากามิเริ่มมีข้อผิดพลาดในการทำงาน และไม่ใส่ใจข้อกำหนดกฎระเบียบในการทำงาน ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกลูกค้าแจ้งรายงานพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้วัสดุกันกระแทกในการหีบห่อสินค้าซึ่งไม่ได้มาตรฐาน เมื่อถูกท้วงติง ยามากามิก็โต้แย้ง และว่าวิธีการของเขาก็ไม่ได้แย่อะไร บริษัทขานรับข้อร้องเรียนของลูกค้าด้วยการโยกให้เขาไปทำงานด้านอื่น แต่หลังจากนั้นมา เขาก็เริ่มขาดงาน โดยมีข้ออ้างเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือความเจ็บป่วยอื่น ๆ และใช้วันลาจนหมด ก่อนจะออกจากงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นก่อนที่จะมาก่อเหตุสะเทือนขวัญไม่ถึงสองเดือนหลังจากนั้น       

เท็ตสึยะ ยามากามิ วัย 41 ปี ผู้ลั่นไกสังหารนายชินโซ อาเบะ

“เขาอาจจะเคยมีการปัญหาในการทำงาน แต่ก็ไม่เคยสร้างเรื่องในลักษณะที่ใช้ความรุนแรง ดูเขาไม่ใช่คนประเภทที่จะทำเรื่องเลวร้ายได้ขนาดนั้น” อดีตผู้ร่วมงานของเขาให้ความเห็น ขณะที่ดูเหมือนยังช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  

 

ทั้งนี้ สหพันธ์ครอบครัวเพื่อความสามัคคีและสันติภาพโลก (FFWPU) หรือ "โบสถ์แห่งความสามัคคี" ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อว่า "ลัทธิมูน" แถลงข่าวในกรุงโตเกียววันนี้เช่นกัน (11 ก.ค.) ยืนยันว่า แม่ของนายยามากามินั้นเป็นสาวกของ FFWPU จริง

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า กลุ่มลัทธิดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในด้านความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมและมีต้นกำเนิดมาจากต่างประเทศ โดยมีสาวกจำนวนมากในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ลัทธิมูนยังมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองทั่วโลกอีกด้วย

 

ขณะที่ นายโนบุสุเกะ คิชิ ผู้เป็นตาของนายอาเบะที่ถูกกล่าวพาดพิงนั้น เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2500-2503 เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เชื่อมโยงกับลัทธิมูน ส่วนนายอาเบะก็เคยส่งสาส์นไปยังงานกิจกรรมที่จัดโดยอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับลัทธินี้เมื่อปีที่ผ่านมา (2564) แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าปู่ของนายอาเบะเป็นผู้เชิญลัทธิมูนเข้ามาสู่แผ่นดินญี่ปุ่นจริงหรือไม่ และเชื่อกันว่ากลุ่มคนในลัทธิที่เป็นชาวต่างชาติเป็นผู้มีส่วนในการเผยแผ่ลัทธินี้

โนบุสุเกะ คิชิ ถูกดักแทง 6 แผลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2503 เขาโชคดีกว่าหลาน เพราะรอดชีวิตมาได้

อีกหนึ่งเรื่องราวที่ควรบันทึกไว้ก็คือ นายโนบุสุเกะ คิชิ ผู้เป็นตาของนายอาเบะนั้น ก็เคยถูกลอบทำร้ายขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเช่นกัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยชายวัย 65 ปีชื่อนายไทสุเกะ อารามะกิ เป็นคนตกงานที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองชาตินิยม เขาดักใช้มีดแทงเข้าที่ต้นขาของนายคิชิถึง 6 แผล

 

แต่โชคดีที่มีดไม่ตัดเส้นเลือดใหญ่ นายคิชิรอดตายจากเหตุลอบทำร้ายครั้งนั้น เขาถูกเย็บ 30 เข็ม ส่วนผู้ก่อเหตุซึ่งถูกรวบตัว ณ จุดเกิดเหตุ ให้การกับตำรวจว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะแทงให้ตาย เพราะถ้าตั้งใจทำเช่นนั้น นายคิชิก็คงตายไปแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้เปิดปากถึงแรงจูงใจว่าเพราะเหตุใดจึงลงมือก่อเหตุ  นายอารามะกิถูกตัดสินจำคุก 3 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2505  

 

ข้อมูลอ้างอิง