มาเลย์สู้ศึกโควิด ประกาศเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชน 60% ภายใน 3 เดือน

23 มิ.ย. 2564 | 11:16 น.

รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนครอบคลุม 60% ภายในสิ้นเดือน ก.ย.

นายไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมาเลเซียเปิดเผยวันนี้ (23 มิ.ย.) ว่า มาเลเซีย ตั้งเป้าที่จะ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชากรในประเทศราว 60% ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ โดยเขากล่าวในการประชุม ธนาคารโลก วันนี้ว่า มาเลเซียได้เร่งอัตราการฉีดวัคซีนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับประชาชนทั่วประเทศแล้ว 4.08 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.5% ของประชากรทั้งหมด  

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 มาเลเซียได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว 250,529 โดส ซึ่งมากเกินกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าฉีด 150,000 โดสต่อวัน ในเดือนมิ.ย.นี้

นายไครีกล่าวเสริมว่า รัฐบาลมาเลเซียมั่นใจว่าจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 11 ล้านโดสได้ภายในสิ้นเดือนก.ค., 13 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนส.ค. และอีก 8 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนก.ย.

นายกฯมาเลเซียฉีดวัคซีนนำเพื่อเชิญชวนประชาชน

ทั้งนี้ ตัวเลขการฉีดวัคซีนเป็น 1 ใน 3 ตัวชี้วัดที่รัฐบาลกำลังเฝ้าติดตาม เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 มิ.ย.นี้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิดของมาเลเซียที่ยังคุมไม่อยู่ ทำให้ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียในปีนี้ (2564) ลงสู่ระดับ 4.5% จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 6% เนื่องจากคาดว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย และมาตรการควบคุมการเดินทางของประชาชนเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้นี้

คาดเศรษฐกิจมาเลเซียปีนี้โต 4.5%

ธนาคารโลกระบุในรายงานว่า การปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการควบคุมโควิด-19 และการฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

"การขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความเข้มข้นของข้อกำจัดในการเดินทาง การควบคุมโรคระบาด และอัตราการฉีดวัคซีน" รายงานระบุ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเดินทาง ประกอบกับพฤติกรรมของประชาชนที่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ค่าจ้างมีแนวโน้มปรับตัวลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้จ่ายภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ส่วนภาคการส่งออกก็มีแนวโน้มขยายตัว

ทั้งนี้ รายงานระบุว่ามีแนวโน้มที่อุปสงค์โลกจะฟื้นตัวขึ้นในอนาคต เนื่องจากประเทศต่างๆ มีความคืบหน้าในโครงการฉีดวัคซีน และมีการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

 รายงานของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าและบริการของมาเลเซียมีแนวโน้มขยายตัว 13.1% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563 ที่หดตัวลง 8.9% โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2564 จะได้แรงหนุนจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง