ดอกเบี้ยเริ่มขยับสู่ขาขึ้น คาด"เฟด" ใกล้กลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติ หลังอัดฉีดเป็นพิเศษช่วงโควิด

13 มิ.ย. 2564 | 01:50 น.

แนวโน้มแบงก์ชาติทั่วโลกเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจับสัญญาณเฟดคุมเข้มนโยบายการเงิน

ธนาคารกลาง หลายแห่งทั่วโลกได้เริ่ม ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางความคาดหมายว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติในเร็ว ๆนี้ หลังจากที่ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษโดยอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ตลาดเพื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวจาก ผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว (2563)

ทั้งนี้ ธนาคารกลางแคนาดานับเป็นธนาคารกลางแห่งแรกในกลุ่มประเทศ G7 ที่ได้ประกาศถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณในเดือนเม.ย.ว่าธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ส่วนธนาคารกลางนอร์เวย์ได้ประกาศแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปีนี้ 

ทางด้านธนาคารกลางนิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ได้ส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินเช่นกัน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว

แม้แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษมานานหลายทศวรรษ ก็ได้เปิดช่องสำหรับการเริ่มถอนตัวจากการใช้นโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารกลางรัสเซีย บราซิล กานา และอาร์เมเนีย ก็ได้เริ่มวงจรคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับแรงกดดันของเงินเฟ้อภายในประเทศ

ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)

หากเฟดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินด้วยการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ และกระทบอย่างหนักต่อตลาดเกิดใหม่ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2541 และ 2556

ธนาคารกลางอินโดนีเซียแสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากอินโดนีเซียต้องพึ่งพากระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก

 "เราต้องเตรียมรับมือความเป็นไปได้ที่เฟดจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในปีหน้า โดยเฟดอาจลดการอัดฉีดเงินในตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอินโดนีเซีย" ธนาคารกลางอินโดนีเซียระบุ

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางแอฟริกาใต้ระบุว่า แม้เฟดเคยเปิดเผยว่าจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ปัญหาคือเฟดไม่เคยบอกว่าจะยอมรับให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากน้อยเพียงใดก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เชื่อไม่มีเซอร์ไพรส์สัปดาห์หน้า แต่ต้องจับตาประชุมแจ็กสันโฮล

 ด้านตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกินคาดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยระบุว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย.

นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย.

และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 29 ปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย.

นักวิเคราะห์ระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อถูกบิดเบือนจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงรักษาจุดยืนในการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย. โดยเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

อย่างไรก็ดี คาดว่าเฟดจะเริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค. นี้ และจะเริ่มดำเนินการปรับลด QE ในเดือนธ.ค.หรือต้นปีหน้า ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566

การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้ จะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากัน หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว เฟดต้องจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่ผ่านมา การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากประเทศต่างๆทั่วโลก เดินทางเข้าร่วมการประชุม ขณะที่ไฮไลท์จะอยู่ที่การกล่าวปาฐกถาของประธานเฟดในขณะนั้นเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลปีที่แล้ว (2563) นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้ประกาศการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ โดยระบุว่าเฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ จะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้ เป็นที่คาดหมายว่านายพาวเวลล์จะส่งสัญญาณการปรับลดวงเงิน QE ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ออกมาส่งสัญญาณให้ตลาดการเงินเตรียมตัวพร้อมรับการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟดก่อนหน้านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง