เอกชนจีนแห่ขอเงินกู้สู้ไวรัสกว่า 2.5 แสนล้าน

22 ก.พ. 2563 | 03:10 น.

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” (Covid-19)ในประเทศจีน แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตและการติดเชื้อชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจในประเทศของจีนยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการเฝ้าระวังและความพยายามควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ขยายวงกว้าง ยังคงทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีคนไปชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า การจัดคอนเสิร์ต สถานออกกำลังกาย สวนสนุก ฯลฯ เงียบเหงาลงมาก

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้โรงภาพยนตร์เกือบ 70,000 แห่งในประเทศจีนยังคงปิดบริการ คาดว่าความสูญเสียเชิงรายได้อยู่ที่ระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์แล้วในขณะนี้

ผู้ประกอบการจำนวนมากดิ้นปรับตัวแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและประคองธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ ด้วยการปรับลดเงินเดือนพนักงาน หรือให้พนักงานพักร้อนระยะยาวโดยไม่รับเงินเดือน ดึงเวลาการจ่ายค่าจ้างแรงงาน หรือบางรายก็งดจ่ายค่าจ้างเป็นการชั่วคราว ขณะที่รัฐบาลเอง ก็แนะนำให้พนักงานทำงานที่บ้านมากขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และแนะให้สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนมากทำงานร่วมกันในพื้นที่ปิด เช่น โรงงานผลิต ปรับกระบวนการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ บางแห่งยังไม่กลับมาเริ่มการผลิต บางแห่งก็ลดกำลังการผลิตลงมาและใช้แรงงานจำนวนน้อยลง

เอกชนจีนแห่ขอเงินกู้สู้ไวรัสกว่า 2.5 แสนล้าน

จากการสำรวจของเว็บไซต์ Zhaopin.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมสำหรับตลาดจัดหางานของจีนพบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 9,500 คน ยอมรับว่าพวกเขารู้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกปรับลดเงินเดือน สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือรูปธรรมที่ยืนยันว่าภาคธุรกิจเอกชนของจีน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมที่เคยมีการเติบโตมากที่สุด ยังมีความเปราะบางและได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ การที่หลายบริษัทชะลอหรือระงับการจ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นการชั่วคราว ยังสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาใหญ่ที่จีนกำลังเผชิญอยู่ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาด้านสาธารณสุขอีกต่อไป แต่ยังเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน และความอยู่รอดของผู้ประกอบการ

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากวงการธนาคารว่า จนถึงขณะนี้ มีบริษัทเอกชนของจีนมากกว่า 300 ราย ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเสี่ยวมี่ และตีตี จูซิง ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันเรียกรถโดยสารรายใหญ่ที่สุดของจีน ที่ยื่นเรื่องขอเงินกู้จากธนาคารคิดเป็นวงเงินรวมอย่างน้อย 8,200 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 254,200 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้รับมือกับผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดดังกล่าว และบางรายก็ต้องการเงินกู้ไปใช้เพื่อร่วมป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสตามนโยบายของรัฐบาล เช่น กรณีของ “เสี่ยวมี่” ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ต้องการเงินกู้ 716.24 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 22,203 ล้านบาทไปใช้ขยายสายการผลิตสินค้าใหม่คือหน้ากากอนามัยและปรอทวัดไข้ เป็นต้น

 

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เอกชนจีนแห่ขอเงินกู้สู้ไวรัสกว่า 2.5 แสนล้าน