สิงคโปร์เบียดสหรัฐฯคว้าแชมป์ ประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันอันดับ1ของโลก

30 พ.ค. 2562 | 10:51 น.

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 พบว่า แชมป์ปีนี้ หรือประเทศที่ได้ชื่อว่ามีขีดความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งปีนี้สามารถขึ้นจากอันดับ 3 มาเป็นอันดับ 1 โดยเบียดสหรัฐอเมริกาแชมป์เก่า ตกลงไปอยู่ในอันดับ 3 ขณะที่ฮ่องกง ยังสามารถครองตำแหน่งที่ 2 ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

 

 ทั้งนี้ IMD ได้ทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

สิงคโปร์เบียดสหรัฐฯคว้าแชมป์ ประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันอันดับ1ของโลก

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่สิงคโปร์สามารถขึ้นมาอยู่ในอันดับสูงสุดนี้ โดยรายงานของ IMD ระบุว่า ความแข็งแกร่งของสิงคโปร์อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าขั้นสูง มีบุคลากรที่มีทักษะความรู้จำนวนมากเพียงพอ มีกฎหมายคนเข้าเมืองที่เอื้ออำนวย และมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการก่อตั้งธุรกิจใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่สหรัฐฯ อันดับความสามารถในการแข่งขันลดลง 2 ขั้น เป็นผลมาจากการที่ปัจจัยบวกจากมาตรการลดภาษี ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจได้แผ่วกำลังลงแล้ว อีกทั้งการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐฯก็ชะลอตัวลง

ในส่วนของประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกก็นับว่าทำอันดับได้ดีในเรื่องนี้ โดยมี 11 ประเทศจาก 14 ประเทศ (รวมทั้งเขตเศรษฐกิจ) ที่สามารถรักษาอันดับเดิม หรือที่ดีไปกว่านั้นคือสามารถไต่อันดับสูงขึ้น ฮ่องกงที่มาเป็นอันดับสอง ทำคะแนนได้ดีในแง่มาตรการภาษีและนโยบายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน(ความสนับสนุนทางการเงิน)

 

นายอาร์ทูโร บลิส  ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center เปิดเผยว่า ท่ามกลางบริบทในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในตลาดโลกอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศรวมทั้งความสัมพันธ์ทางการค้าที่แปรเปลี่ยน ในสถานการณ์แบบนี้คุณภาพของสถาบัน-องค์กรต่างๆในสังคมดูจะเป็นองค์ประกอบหลักที่จะนำไปสู่การเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป

สิงคโปร์เบียดสหรัฐฯคว้าแชมป์ ประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันอันดับ1ของโลก

การจัดอันดับของ IMD เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1989 ใช้ 235 ตัวชี้วัดประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของ 63 ประเทศ(และเขตเศรษฐกิจ) ทั่วโลก ตัวชี้วัดดังกล่าวนั้นประกอบด้วยข้อมูลเชิงสถิติอย่างเช่น อัตราการว่างงาน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และงบประมาณด้านการศึกษาและสาธารณสุข ไปจนถึงข้อมูลเชิงความคิดเห็น เช่นการสำรวจความคิดเห็นของบุคคลระดับผู้บริหารธุรกิจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น เอกภาพทางสังคม กระแสโลกาภิวัตน์ และการคอร์รัปชั่น เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการให้คะแนนโดยแบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ ความสามารถทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐบาล และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ

 

สำหรับปีนี้ อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศนี้ได้ชื่อว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน และในการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขัน อินโดนีเซียก็สามารถเลื่อนอันดับสูงขึ้นมากที่สุด โดยเลื่อนขึ้น 11 ขั้นมาอยู่ในอันดับที่ 32 อันเป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจก็ปรับปรุงขึ้นด้วย ส่วนประเทศไทยนั้น เลื่อนขึ้น 5 ขั้นมาอยู่ในอันดับที่ 25 เป็นผลจากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI)ที่เพิ่มขึ้นและประสิทธิผลในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของการขยับสู่อันดับที่ลดลง โดยปีนี้ ญี่ปุ่นหล่นอันดับลง 5 ขั้นเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้สาธารณะสูง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจอ่อนแรงลง

สิงคโปร์เบียดสหรัฐฯคว้าแชมป์ ประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันอันดับ1ของโลก

ด้านยุโรปผลลัพธ์มีทั้งลบและบวก โดยอังกฤษถูกความไม่แน่นอนของกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ฉุดให้อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง จากอันดับ 20 มาอยู่ที่อันดับ 23 ขณะที่นอร์เวย์หลุดออกจากอันดับ Top10 ส่วนเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ พากันหล่นลง 2 อันดับแม้จะยังสามารถรักษาสถานะใน 10 อันดับประเทศที่มีขีดความสามารถสูงที่สุด (Top10) ไว้ได้  ด้านประเทศยุโรปที่ทำอันดับสูงขึ้นโดดเด่นได้แก่ ไอร์แลนด์ ขยับสูงขึ้น 5 ขั้นมาอยู่ที่อันดับ 7  และสวิตเซอร์แลนด์สูงขึ้น 1 ขั้นมาอยู่อันดับ 4 และเป็นประเทศยุโรปที่มีอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด

สิงคโปร์เบียดสหรัฐฯคว้าแชมป์ ประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันอันดับ1ของโลก

ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่ทำสถิติไต่อันดับได้มากที่สุดคือขยับสูงขึ้น 19 ขั้นเมื่อเทียบกับการจัดอันดับในปี 2561 มาอยู่ที่อันดับ 26 อันเป็นผลมาจากการทุ่มงบด้านการศึกษา ส่วนเวเนซุเอลาที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญวิกฤต ครองอันดับสุดท้ายในการจัดอันดับปีนี้