บราซิลฝ่าวิกฤติการเมือง เพิ่มโอกาสรุสเซฟฟ์ถูกถอด

20 มี.ค. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บราซิลหาหนทางผ่าทางตันทางการเมือง หลังประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

การชุมนุมประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของบราซิลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 มีนาคม) มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมในเมืองต่างๆ 400 เมืองทั่วประเทศอย่างน้อย 3 ล้านคนจากการประเมินของตำรวจบราซิล เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และปัญหาคอร์รัปชันที่เกี่ยวพันกับบุคคลในรัฐบาล

เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นทำให้วิกฤติทางการเมืองของบราซิลอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยง และบีบนางดิลมา รุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศให้เหลือทางเลือกต่อจากนี้อีกไม่มากนัก ผู้นำภาคธุรกิจของบราซิลที่ก่อนหน้านี้ระมัดระวังในการแสดงจุดยืนต่อนางรุสเซฟฟ์ ในเวลานี้กลับออกมาสนับสนุนให้นางรุสเซฟฟ์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวว่าเป็นหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่นางรุสเซฟฟ์จะต้องก้าวลงจากตำแหน่ง คำถามคือจะเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้น

นายริคาร์โด คาลดาส นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราซิเลีย ให้ความเห็นว่า การออกมาชุมนุมประท้วงของผู้คนจำนวนมากสร้างแรงกดดันต่อสภาคองเกรสให้เดินหน้ากระบวนการถอดถอนนางรุสเซฟฟ์ หลังจากล่าช้ามาเป็นเวลาหลายเดือน "บรรยากาศในสภาคองเกรสเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าไม่มีการลงมติถอดถอน มันเป็นการยากที่จะอธิบายกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" นายคาลดาสกล่าว

ขณะที่นางรุสเซฟฟ์ยืนยันเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะเรียกร้องให้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งลาออกโดยไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าได้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ พรรคแรงงานของนางรุสเซฟฟ์เตรียมจัดการชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลในวันศุกร์ (17 มีนาคม) เพื่อหวังว่าจะเรียกเสียงสนับสนุนของประชาชนกลับคืนมา และแสดงจุดยืนว่านางรุสเซฟฟ์ถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมจากฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ที่เปิดเผยออกมาในสัปดาห์นี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ยูเรเซีย กรุ๊ป ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ 65% ที่นางรุสเซฟฟ์จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ครบวาระ ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2561 "เวลานี้เราคิดว่าการลงมติถอดถอนจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม และรุสเซฟฟ์จะไม่รอดพ้นการลงมติดังกล่าว"

คำร้องถอดถอนนางรุสเซฟฟ์ตั้งอยู่บนข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลของนางรุสเซฟฟ์ตกแต่งงบประมาณอย่างผิดกฎหมายเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐในระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งเพื่อกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 2 ในปี 2557 โดยในการยื่นเรื่องถอดถอนครั้งแรกเมื่อปีก่อน นักวิเคราะห์มองว่านายรุสเซฟฟ์มีโอกาสได้รับคะแนนสนับสนุนเพียงพอให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ในเวลานี้โอกาสของนางรุสเซฟฟ์ไม่ชัดเจนเท่าที่ผ่านมา

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินอนาคตของนางรุสเซฟฟ์ คือการตัดสินใจของพรรคร่วมรัฐบาล บราซิเลียน เดโมแครติก มูฟเมนต์ หรือ พีเอ็มดีบี ซึ่งนายมิเชล เทเมอร์ ประธานพรรคพีเอ็มดีบีนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและจะได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีโดยอัตโนมัติถ้านางรุสเซฟฟ์ถูกถอดถอน รายงานข่าวระบุว่าในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผู้นำพรรคพีเอ็มดีบีได้หารือกับพรรคอื่นๆ โดยส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ถึงโอกาสในการร่วมมือบริหารประเทศหลังจากการลงมติถอดถอนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559