ผ่านโหวต! "ได้ไปต่อ" นายกฯอังกฤษเดินหน้าลุยภารกิจ "Brexit"

17 ม.ค. 2562 | 03:04 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันที่ 16 ม.ค. 2562 สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษลงคะแนน 325 ต่อ 306 เสียง ให้ความไว้วางใจการทำงานของรัฐบาล ทำให้ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าสานภารกิจการนำอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ตามผลของการทำประชามติเมื่อปี 2559 ต่อไป โดยหลังจากทราบผลว่ารัฐบาลรอดญัตติไม่ไว้วางใจ นางเมย์ได้ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกสภาฯ ร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าทำภารกิจเบร็กซิทให้ลุล่วง โดยระบุว่า ทุกฝ่ายต้องผลักผลประโยชน์ส่วนตัวทิ้งไป แล้วหันมาทำงานร่วมกัน ข่าวระบุว่า ชัยชนะส่วนหนึ่งของฝ่ายรัฐบาลในครั้งนี้ เนื่องมาจากได้คะแนนสนับสนุนกลับคืนมาจากสมาชิกพรรคสหภาพประชาธิปไตย หรือ ดียูพี และพรรคอนุรักษ์นิยมของนางเมย์เอง ที่เคยปันใจไปลงคะแนนคัดค้านข้อตกลงเบร็กซิทที่ นางเทเรซา เมย์ นำเสนอต่อสภาผู้แทนฯ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ม.ค.) ซึ่งครั้งนั้นสภาลงคะแนนคัดค้านข้อตกลงเบร็กซิทด้วยคะแนน 432 ต่อ 202 เสียง


maythe1
"ทุกฝ่ายต้องผลักผลประโยชน์ส่วนตัวทิ้งไป แล้วหันมาทำงานร่วมกัน"

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า นางเทเรซา เมย์ สามารถอยู่บริหารประเทศต่อไป และเธอจะนำเสนอข้อตกลงเบร็กซิทให้สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนรับรองอีกครั้งในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (21 ม.ค.) สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายค้านและสมาชิกสภาฯ อีกจำนวนมาก คือ ความไม่ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่องที่สำคัญ เช่น กรณีการตั้งด่านศุลกากรที่แนวชายแดนสาธารณรัฐไอร์แลเบรนด์ (ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู) และไอร์แลนด์เหนือ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ) ภายหลังเบร็กซิท ว่า จะต้องมีการตั้งด่านพรมแดนตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรอย่างเข้มงวดหรือไม่ หรือจะเป็นรูปแบบใด แม้ว่าจะมีการให้เวลาเพื่อการปรับตัว ที่เรียกว่า ช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ก็ยังคงมีความไม่แน่นอน ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า เรื่องนี้สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่ร้าย คือ อาจนำไปสู่การขอแยกตัวไอร์แลนด์เหนือออกจากอังกฤษก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่คลุมเครือและยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ คือ การแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษนั้น ในข้อตกลงยังไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า จะเป็นการแยกตัวแบบเด็ดขาด (Hard Brexit) เป็นการตัดสัมพันธ์หลายอย่างกับอียู หรือจะเป็นแบบยืดหยุ่น (Soft Brexit) ซึ่งหมายถึงอังกฤษจะยังคงมีความสัมพันธ์และใช้กฎเกณฑ์บางอย่างร่วมกับอียู อีกอุปสรรคที่สำคัญ คือ ประชามติเบร็กซิทที่เกิดขึ้นในปี 2559 นั้น ชนะกันด้วยคะแนนเพียง 52 ต่อ 48 เรียกว่า ยังมีหลายฝ่ายที่ไม่อยากให้อังกฤษออกจากอียู โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่พวกเขาไม่รู้ชัดเจนว่าจะออกแบบไหน รายละเอียดเป็นอย่างไร ทำให้ยังคงมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษจัดทำประชามติเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503