ทำความรู้จัก "ผู้นำโสร่งคนใหม่" นักสู้ '8888'

30 มี.ค. 2561 | 04:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

300361-1137

ทำความรู้จัก U Win Myint ประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ “ฐานเศรษฐกิจ” เขียนบทความเรื่อง “ทำความรู้จัก U Win Myint ประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมา” ใจความว่า

หลังจากประธานาธิบดี U Htin Kyaw (อู่ ทิน จ่อ) ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 มีนาคม 2018 วันนี้ประเทศเมียนมาก็ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งเป็นคนที่ 10 ของประเทศแล้ว นั่นคือ U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น) อดีตโฆษกแห่งรัฐสภาเมียนมา (2nd Speaker of the House of Representatives (Pyithu Hluttaw) แต่หน้าที่คือ รองประธานสภา) ที่ลาออกมาเพื่อรับตำแหน่งนี้โดยเฉพาะ

 

[caption id="attachment_273067" align="aligncenter" width="387"] U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น) U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น)[/caption]

คุณ Win Myint เกิดปี 1951 ในหมู่บ้าน Nyaung Chaung เมือง Danubyu ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิระวดี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่ความสนใจของท่านไปอยู่ในเรื่องของกฎหมาย ทำให้ท่านเริ่มต้นศึกษากฎหมายอย่างจริงจังในทศวรรษ 1980 และเปลี่ยนอาชีพไปเป็นทนายความ และแน่นอนว่าเมื่อเกิดกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าในเหตุการณ์ 8888 คุณ Win Myint ก็เป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองที่ถูกจับ แต่ท่านก็สามารถพ้นคดีออกมาได้ในปี 1990

แท้จริงแล้วคุณ Win Myint ไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับวงการการเมืองเมียนมาครับ ท่านเป็น ส.ส. ของเขตบ้านเกิดของท่าน คือ เขต Ayeyarwady (อิระวดี) มาตั้งแต่ ปี 1990 ถึงแม้จะไม่ได้เข้าสภา เพราะรัฐบาลเผด็จการทหาร SLORC ในขณะนั้นประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ทำให้ท่านต้องเข้าคุกในฐานะนักโทษทางการเมืองอีกรอบ ซึ่งในครั้งนี้เองที่ท่านได้พิสูจน์ตนว่าเป็นนักการเมืองขนานแท้ที่มีสปิริตแห่งประชาธิปไตย


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

เพราะในช่วงนั้น ลูกชายของ Win Myint กำลังป่วยหนักและจวนเจียนจะเสียชีวิต รัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้น จะอนุญาตให้ท่านออกจากเรือนจำได้ โดยมีข้อแม้ให้ท่านต้องยอมรับว่าผลการเลือกตั้งครั้งปี 1990 เป็นโมฆะ แต่สิ่งที่ Win Myint ยืนยันก็คือ ไม่ขอพ้นโทษ เพราะต้องเชื่อมั่นและยอมรับในคะแนนเสียงที่ประชาชนพม่าเลือกเขาเข้ามาเป็นผู้แทน จะให้คะแนนเหล่านี้เปล่าประโยชน์ไม่ได้ และนั่นเอง ทำให้เขาไม่มีโอกาสดูใจลูกชายและไม่ได้เข้าร่วมพิธิศพ จะเห็นได้ว่าทุกคนสูญเสียขนาดไหนกว่าที่จะได้ประชาธิปไตย

แล้ว Win Myint ก็ได้รับการนิรโทษกรรมในปี 2010 พร้อมกับการปฏิรูปการเมืองของเมียนมาในสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทำให้เขาได้รับเลือกจากสมาชิกพรรค NLD ให้ดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรค (NLD Central Executive Committee Member) และเขาก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2012 ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐสภาร่วมกับคุณอองซาน ซูจี และชนะเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2016 และในครั้งนี้เองที่ชื่อของเขาก็ปรากฏมาเป็นหนึ่งในตัวเก็งของการเป็นประธานาธิบดีเมียนมาเนื่องจากคุณอองซานซูจีดำรงตำแหน่งนี้ไม่ได้เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ

 

[caption id="attachment_273070" align="aligncenter" width="503"] U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น) U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น)[/caption]

ในปี 2016 คุณอองซานซูจี เลือก ทิน จ่อ เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเชื่อว่าก็เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุด เพราะนั่นคือห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องการคนกลางระหว่างอองซานกับกองทัพที่เป็นคนประนีประนอม ยอมโอนอ่อนผ่อนปรน และวางตัวได้ดี และในเวลานั้น ตามการวิเคราะห์ของ Kyaw Zwa Moe แห่งสำนักข่าวอิรวดี ก็มองว่าคุณอองซานเองก็คงคาดการณ์ว่า เธอเองสามารถทำได้ทุกเรื่อง ดังนั้น ให้ทินจ่อเป็นประธานาธิบดีในทางพิธีการ แล้วเธอกำกับและทำงานเองทั้งหมดก็น่าจะได้ แทนที่จะเลือกคนอย่าง Win Myint ซึ่งก็คงมีความช่ำชองทางการเมืองสูง และอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน

แต่ในปี 2018 เหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปีนี้คุณอองซานซูจีอายุ 73 ปี และด้วยวัยทำให้เธอเองไม่สามารถทำงานหนักและลงมือทำทุกอย่างด้วยตนเองได้อีกต่อไป ในระยะหลังนี้กำหนดการของคุณอองซานหลาย ๆ รายการต้องถูกยกเลิกด้วยเหตุผลทางสุขภาพของตัวเธอเอง ดังนั้น Kyaw Zwa Moe จึงวิเคราะห์ไว้ว่า นาทีนี้ Win Myint กลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะเหตุผล 3 ข้อ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

1. ซูจีต้องการประธานาธิบดีที่เป็น Real President ที่มีพื้นฐานทางการเมืองที่แข็งแกร่ง (Politically Strong) เพื่อให้ทำงานบางอย่างที่เธอเองก็คงดำเนินการด้วยตนเองไม่ไหว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาและการทำงานแบบวันต่อวัน ในขณะที่คุณอองซานเองก็ลดบทบาทตัวเองจากงานประจำวันไปโฟกัสทำเรื่องยาก ๆ ใหญ่ ๆ หรือนโยบายยาว ๆ จะดีกว่า
2. ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซูจีเองก็มีปัญหาหลาย ๆ เรื่องในการทำงานเป็นทีมร่วมกับคณะรัฐมนตรี อาจเป็นเพราะเธอเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านที่คุ้นชินกับการทำงานคนเดียว ดังนั้นนาทีนี้เมียนมากำลังต้องการคนที่สามารถเป็นตัวกลางในการทำงานระหว่าง ครม. กับคุณอองซาน ซึ่งแน่นอนว่าอดีตทนายความ ที่เคยดำรงตำแหน่งโฆษกของรัฐสภาของ Win Myint น่าจะทำงานนี้ได้อย่างดี
3. ปี 2020 เมียนมาจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ดังนั้น 2 ปีต่อจากนี้เป็นห้วงเวลาสำคัญที่พรรค NLD จะต้องเร่งสร้างผลงานที่จับต้องได้ ดังนั้นการมีประธนานธิบดีที่สามารถทำงานได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ น่าจะเป็นปัจจัยเสริมให้พรรคสามารถทำงานที่ประชาชนจับต้องได้มากยิ่งขึ้น

 

[caption id="attachment_273072" align="aligncenter" width="503"] U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น) U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น)[/caption]

แต่แน่นอนว่าการเลือก Win Myint ขึ้นมาก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ เพราะที่ผ่านมา Win Myint เองก็มีบทบาทโดดเด่นอยู่เสมอในเรื่องของการปราบคอรัปชั่น การบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งการแก้ปัญหาขัดแย้งในเรื่องที่ดินที่มีปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารที่เที่ยวยึดเอาที่ดินชาวบ้านมาเป็นของนายทหารระดับสูง เรื่องความโปร่งใสของ Win Myint เป็นเรื่องที่พูดถึงโดยทั่วไป โดยเฉพาะในกรณีที่เขาประกาศไม่รับของขวัญใด ๆ ทั้งสิ้นในงานแต่งงานของลูกสาวเมื่อปีที่แล้ว

การดึงคนที่จะมีประเด็นที่อาจจะเปราะบางกับกองทัพเช่นที่กล่าวไปแล้วอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพซึ่งในระยะหลังเราเริ่มเห็นความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น อาทิ ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นวันเฉลิมฉลองครบรอบ 73 ปีของการก่อตั้งของทัพเมียนมาหรือ Tatmadaw เนื่องในวาระที่พวกเขาตั้งกองทัพเพื่อปลดแอกญี่ปุ่นในปัจจุบัน 1945 ซึ่งแน่นอนว่ากองทัพก็มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่นำโดยนายพลอาวุโส Min Aung Hlaing แต่ในขณะเดียวกัน สส.ของพรรค NLD จำนวนกว่า 100 คนจัดงานชื่อ Anti-Fascist Day เพราะหมายถึงการต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองพม่าในปี 1945 แบบเผด็จซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาตั้งชื่อแบบกระทบกระเทียบแดกดันการปกครองของเผด็จการทหารที่ผ่านมา


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย เองก็กล่าวสุนทรพจน์ในงานนี้ของกองทัพ โดยประกาศเช่นกันว่า เรื่องการปรองดองแห่งชาติ กองทัพจะใช้วิธีการที่สามารถปฏิบัติได้จริง และกระทบกระเทียบทำนองว่ากระบวนการของ NLD เป็นกระบวนการในอุดมคติที่ทำไม่ได้จริง

เหล่านี้ทำให้เห็นว่าอนาคตข้างหน้าของประธานาธิบดีคนใหม่ U Win Myint ยังมีความท้าทายนานับประการรอคอยอยู่

 

[caption id="attachment_273075" align="aligncenter" width="503"] U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น) U Win Myint (อู่ วิน หมิ่น)[/caption]

ทำความรู้จัก “ผู้นำโสร่งคนใหม่” นักสู้ ‘8888’
8888 คือ ตัวเลขการต่อสู้เรียกร้องประชาธิไตยของชาวพม่าเเละนักศึกษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ในครั้งนั้นรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามอย่างหนักจนมีผู้เสียชีวิตเเละบาดเจ็บมากมาย บางส่วนถูกคุมขัง รวมทั้งผู้นำคนปัจจุบันของเมียนมา เเละนักศึกษาหลายคนหลบหนีไปต่างประเทศ


*** ข้อมูล “นักสู้ 8888” เป็นข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจออนไลน์” ไม่เกี่ยวกับความเห็นของคอลัมนิสต์แต่อย่างใด


……………….
เรื่อง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เมียนมาเลือก 'อู วิน มินต์' เป็นประธานาธิบดีคนใหม่
ปธน.เมียนมา "ลาออก" อ้างต้องการพักจากการทำงาน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว