เปิด 3 แผนรบ ‘มะกัน’ ขยี้ ‘โสมแดง’

04 ก.ย. 2560 | 12:06 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

สำนักข่าว BBC รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.60 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯบอกว่าพร้อมจะใช้ทุกทางเลือกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ซึ่งก็หมายความว่าการเลือกใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าจัดการปัญหาที่ยุ่งยากเรื้อรังมานานนี้ ยังคงมีความเป็นไปได้สูง แม้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเรียกร้องให้สหรัฐฯพิจารณาทางเลือกอื่นก็ตาม
หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง สหรัฐจะเลือกยุทธวิธีแบบใดในการกำราบเกาหลีเหนือ

ในรายงานข่าวของสำนักข่าว BBC ระบุว่า นายจัสติน บรองก์ ผู้เชี่ยวชาญจากราชสถาบันรวมเหล่าทัพเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (RUSI) ของสหราชอาณาจักร ได้วิเคราะห์ว่าสหรัฐจะเลือกยุทธวิธีแบบใดโดยออกเป็น 3 ยุทธวิธีดังนี้

1409520130327
1. ยกระดับการปิดล้อม
ปฏิบัติการนี้ถือได้ว่ามีความเสี่ยงน้อยที่สุด และได้ผลน้อยที่สุดเช่นกัน เนื่องจากเป็นการใช้กำลังพลที่มีอยู่แล้วเข้าประจำการอยู่โดยรอบคาบสมุทรเกาหลีเพื่อเป็นการตั้งรับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนืออย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาวิธีการนี้ไม่สามารถหยุดยั้งการทดสอบยิงขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้

สหรัฐสามารถเพิ่มกำลังพลและติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD สำหรับปฏิบัติการทางภาคพื้นในเกาหลีใต้ รวมทั้งสามารถส่งอาวุธหนักและยานยนต์หุ้มเกราะเข้าไปเสริมในเกาหลีใต้ได้อีก เพื่อแสดงแสนยานุภาพและความพร้อมในการใช้กำลังทหารเข้าจัดการได้ทุกขณะ

อย่างไรก็ตาม การเสริมกำลังเพื่อปิดล้อมเกาหลีเหนือนี้เสี่ยงที่จะกลายเป็นการยั่วยุแทนได้ เพราะที่ผ่านมาเกาหลีเหนือมองว่าสหรัฐติดตั้งระบบป้องกันต่าง ๆ รวมทั้งซ้อมรบกับกองกำลังเกาหลีใต้อยู่บ่อยครั้ง ก็เพื่อเตรียมการรุกรานประเทศของเกาหลีเหนือ เพราะตนถูกมองว่ามีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นเสมอหากมีความเคลื่อนไหวของสหรัฐและพันธมิตร

เมื่อพิจารณาถึงการใช้แผนปิดล้อมเกาหลีเหนือทางทะเล กองทัพเรือสหรัฐสามารถส่งเรือรบทั้งเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาตเข้าประจำการเพิ่มในน่านน้ำรอบคาบสมุทรเกาหลี หรือแม้กระทั่งส่งกองเรือโจมตีที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปประจำการเพิ่มอีกหนึ่งกองเรือ นอกเหนือจากกองเรือโจมตีคาร์ล วินสัน ที่ประจำการอยู่แล้วก็ยังได้

ส่วนกองทัพอากาศอาจเพิ่มจำนวนของฝูงบินโจมตีและเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ประจำการในฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซนที่เกาะกวม รวมทั้งที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นขึ้นอีก แต่แผนการทั้งหมดนี้ต้องเผชิญกับสภาพความเป็นจริงที่ว่า กองกำลังต่างของสหรัฐเริ่มที่จะแบกรับภารกิจหนักหน่วงในปฏิบัติการต่าง ๆ ทั่วโลกไว้ไม่ไหว

การวางกำลังปิดล้อมเกาหลีเหนือยังเป็นการซื้อเวลาที่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะในระหว่างนั้นเกาหลีเหนือจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปและขีปนาวุธที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งสามารถโจมตีถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐได้ก่อน

เกาหลีเหนือมีจรวดและขีปนาวุธในคลังแสงอยู่มาก ในขณะที่จรวดซึ่งใช้ยิงสกัดขีปนาวุธของสหรัฐนั้นมีราคาแพงและมีประจำการในจำนวนจำกัดบนเรือรบแต่ละลำ จุดอ่อนนี้ทำให้เกาหลีเหนืออาจใช้วิธีรุมยิงโจมตีจนจรวดสกัดขีปนาวุธของสหรัฐหมด และจำต้องนำเรือรบกลับเข้าฝั่ง ดังนั้นแผนยกระดับการปิดล้อมเกาหลีเหนือด้วยการเพิ่มกำลังพลและสรรพาวุธเข้าไปในภูมิภาคจึงเป็นทางเลือกที่มีราคาแพงและไม่ยั่งยืนในระยะยาว

14931906461493190671l
2. มุ่งโจมตีเฉพาะจุด
กองทัพอากาศและกองทัพเรือสหรัฐ มีศักยภาพอย่างมากในการโจมตีเป้าหมายเฉพาะจุด (Surgical Strike) สูงยิ่งกว่ากองกำลังใดทั่วโลก โดยอาจใช้ขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์กที่ยิงจากเรือดำน้ำนอกชายฝั่งเกาหลีเหนือ หรือใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน B-2 เข้าโจมตีจุดสำคัญเช่นสถานที่ทางนิวเคลียร์และฐานยิงขีปนาวุธต่าง ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อเกาหลีเหนือขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การรับประกันความปลอดภัยแก่เครื่องบินและกำลังพลที่เข้าปฏิบัติการดังกล่าวในเกาหลีเหนือ นับว่าประเมินได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายเกาหลีเหนือจะได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้าและเตรียมพร้อมรับการโจมตีไว้มากน้อยเพียงใด

เครือข่ายป้องกันการโจมตีทางอากาศของเกาหลีเหนือนั้นค่อนข้างแน่นหนา แต่ก็ไม่ทราบชัดว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร เพราะไม่มีผู้รู้ข้อมูลที่ตรวจสอบยืนยันได้ อาจคาดการณ์ได้เพียงว่าเป็นระบบที่ผสมผสานไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งอดีตสหภาพโซเวียตที่มีมานานกว่า 50 ปี รวมทั้งของรัสเซีย จีน และระบบที่พัฒนาขึ้นเองซึ่งประกอบไปด้วยเรดาร์และขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าได้ปรับปรุงและพัฒนาไปถึงขั้นไหน

ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้มีความเสี่ยงว่าจะหวังผลจากปฏิบัติการโจมตีเฉพาะจุดได้มากน้อยเพียงใด หากมีกำลังพลเพลี่ยงพล้ำต้องติดอยู่ที่หลังแนวรบของศัตรูจะสามารถเข้าช่วยเหลือได้หรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือยุทธการโจมตีเฉพาะจุดอาจเป็นชนวนให้เกิดการโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่จากเกาหลีเหนือได้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ที่ตั้งอยู่ห่างไปจากเขตปลอดทหารไม่กี่กิโลเมตร

กองทัพเกาหลีเหนือมีอาวุธหนักและปืนใหญ่จำนวนมากที่ตั้งอยู่ตามแนวพรมแดน ซึ่งพร้อมจะยิงเข้าใส่กรุงโซลที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน ทั้งกำลังพลประจำการในกองทัพเกาหลีเหนือราว 1 ล้านคน และกำลังสำรองอีก 6 ล้านคน ก็พร้อมจะบุกโจมตีตอบโต้อย่างรุนแรงได้ตลอดเวลา ซึ่งยากที่กองกำลังสหรัฐฯจะรับมือได้อย่างทันท่วงที ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่คุ้มต่อการทำลายเป้าหมายเฉพาะจุดภายในเขตแดนเกาหลีเหนือ

north-korea-missiles-904566
3. รุกรานเต็มรูปแบบ

เมื่อพิจารณาถึงกำลังพลมหาศาลที่มีอยู่ของกองทัพประชาชนเกาหลี (เคพีเอ) รวมทั้งกำลังสรรพาวุธและเครือข่ายการป้องกันทางอากาศที่แน่นหนาของเกาหลีเหนือแล้ว การที่สหรัฐจะตัดสินใจเข้ารุกรานอย่างเต็มรูปแบบนับว่าออกจะห่างไกลความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย

การเข้ารุกรานเกาหลีเหนือจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนสำหรับสหรัฐเพื่อเตรียมความพร้อมสั่งสมกำลัง แน่นอนว่าไม่สามารถกระทำเป็นการลับได้

และยังจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทางทหารและการป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ ต้องทำให้แน่ใจว่าเกาหลีเหนือไม่มีความสามารถที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้การโจมตีด้วย

ถึงจะทำได้เช่นนั้นก็ตาม การรุกรานเต็มรูปแบบก็ยังจะทำให้เกิดการสูญเสียทหารและพลเรือนของทั้งสองฝ่ายนับหลายแสนชีวิต นอกจากเกาหลีเหนือจะยิงโจมตีอย่างหนักหน่วงไม่คิดชีวิตแล้ว ปฏิบัติการแทรกซึมจู่โจมขนาดใหญ่จากเกาหลีเหนือเข้าไปยังเกาหลีใต้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยทหารเกาหลีเหนือรุ่นต่อรุ่นได้รับการฝึกฝนเพื่อปฏิบัติการนี้มาเป็นเวลาช้านาน

hqdefault

ปฏิบัติการตอบโต้ขนานใหญ่เช่นนี้ กองกำลังสหรัฐและเกาหลีใต้ที่มีขนาดเล็กกว่าจะต้านทานแทบไม่ไหวอย่างแน่นอน แม้จะมีเทคโนโลยีสูงกว่าก็ตาม การรุกรานเกาหลีเหนือยังเสี่ยงต่อปฏิบัติการต่อต้านจากจีน ซึ่งเคยข้ามพรมแดนมาต้านทานกองกำลังอเมริกันและพันธมิตรที่รุกเข้าเกาหลีเหนือในยุคสงครามเกาหลีมาแล้ว โดยจีนนั้นต้องการรักษาเกาหลีเหนือไว้ในฐานะรัฐกันชนเพื่อไม่ให้เขตอิทธิพลของสหรัฐเข้ามาประชิดพรมแดนของตน ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่จีนค้ำจุนอำนาจของครอบครัวตระกูลคิมให้เป็นผู้นำของเกาหลีเหนือมาเป๋นระยะเวลาอย่างยาวนาน

ถึงแม้สหรัฐจะบุกเข้ายึดครองเกาหลีเหนือได้สำเร็จ การฟื้นฟูบูรณะประเทศที่แหลกสลายด้วยสงคราม ทั้งยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางอุดมการณ์จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสหรัฐ

มองกันว่า การรวมชาติระหว่างเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกหลังสงครามเย็นนั้น ยังง่ายดายเสียกว่าการรวมชาติระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มากนัก

สุดท้ายไม่ว่าสหรัฐจะเลือกใช้ปฏิบัติการทางทหารแบบใดกับเกาหลีเหนือ สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือ ความเสี่ยงและต้นทุนที่สูงลิ่วที่มาพร้อมกับทางเลือกทุกทาง ทั้งในด้านของทรัพยากรต่าง ๆ และชีวิตมนุษย์