เอดีบีชี้ราคาอาหาร-น้ำมันกระเตื้อง หนุนอาเซียนโต4.8%

24 เม.ย. 2560 | 13:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย (Asian Development Outlook 2017) ซึ่งเป็นรายงานภาวะเศรษฐกิจฉบับหลัก เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 ระบุว่า ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ประเทศกลุ่มยูโรโซน และญี่ปุ่น จะมีอัตราการเติบโตในปีนี้และปีหน้า (2560 และ 2561) ที่ 1.9 % แต่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในภาพรวมคาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาเดียวกันนั้นที่ระดับ 5.7 % โดยมีเอเชียใต้ เป็นอนุภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดที่อัตรา 7% และ 7.2% ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ

ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ในภาพรวม มีแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเกือบทุกประเทศในภูมิภาคส่งสัญญาณขาขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปีนี้ (2560) ขยับขึ้นที่อัตรา 4.8% (เพิ่มจากเดิม 4.7% ในปี 2559) และยังจะโตขึ้นอีกในอัตราถึง 5% ในปี 2561 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาอาหารโลกและราคาน้ำมันที่กระเตื้องขึ้น เป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อประเทศผู้ผลิตสินค้าและส่งออก อย่างมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ยังมีหลายตัวแปรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งได้แก่ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย แต่ทั้งนี้สภาพคล่องอันล้นเหลือทั่วทั้งภูมิภาค ก็ช่วยให้ความเสี่ยงดังกล่าวบรรเทาลง คาดว่าผลกระทบจากนโยบายการเงินตึงตัว (ของสหรัฐฯ) จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆในเอเชีย-แปซิฟิกมีเวลาในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเพียงพอ ส่วนประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอาจจะประสบกับภาวะค่าเงินที่ลดต่ำลงมากขึ้น ตามด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การบริหารค่าเงินอาจมีผลบั่นทอนความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออก

นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่า หนี้ครัวเรือนของบางประเทศในเอเชียจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องนำนโยบายทางการเงินต่างๆมาใช้ เช่น กำหนดให้ครัวเรือนมีความสามารถในการชำระหนี้ที่เพียงพอ หรืออาจจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อลดความร้อนแรงการเก็งกำไรจากอุปสงค์ และป้องกันไม่ให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสของเอดีบีประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าในส่วนของประเทศไทยนั้น เอดีบีคาดหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อัตรา 3.5% ในปี 2560 และเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 % ในปี 2561 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปีที่ผ่านมา (2559) ทั้งนี้ หลายปัจจัยบวก ได้แก่ การขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังจะได้แรงขับเคลื่อนจากการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกที่ค่อยๆขยับสูงขึ้น ยังเป็นอีกปัจจัยบวกที่จะช่วยเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบก็ยังคงมีอยู่ ทั้งที่เป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยปัจจัยภายนอกนั้น มีผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะแต่กับไทย ซึ่งก็ได้แก่นโยบายการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ที่มีลักษณะกีดกันทางการค้า แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าผลกระทบดังกล่าวจะมีมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นอย่างไรต่อไปเพราะยังไม่มีความชัดเจนมากนัก จึงยังประเมินออกมาไม่ได้แน่นอน แต่ก็เชื่อว่าจะกระทบหลายๆประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศคู่ค้าหลักๆของไทย อีกปัจจัยคือความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ ที่เราเชื่อว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดสงครามขึ้นมา แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องจับตา

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้ง 2 ปัจจัยเสี่ยงตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน ซึ่งตลาดไม่ชอบความไม่แน่นอน ดังนั้น มันจึงอาจก่อให้เกิดความผันผวนขึ้นได้” เศรษฐกรอาวุโสของเอดีบีประจำประเทศไทยกล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560