"ก้าวไกล" ไม่ร่วมรัฐบาล "ชาติพัฒนากล้า" ออกแถลงกลางดึก 

19 พ.ค. 2566 | 22:43 น.

"พรรคก้าวไกล" ไม่ร่วมรัฐบาล "พรรคชาติพัฒนากล้า" ออกแถลงกลางดึกผ่านเพจเฟซบุ๊ค หลังเกิดกระแสแฮชแท็กแรง #มีกรณ์ไม่มีกู ยืนยันเคารพเสียงประชาชน พร้อมขอโทษพรรคชาติพัฒนากล้า

จากกรณี มีกระแสข่าวว่าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มี 2 เสียงส.ส.ในสภา ตกลงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และพร้อมโหวตสนับสนุนให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่การติดแฮชแท็ก #มีกรณ์ไม่มีกู พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาต่อมา 

แม้ทางพรรคก้าวไกลจะได้มีการชี้แจงถึงกรณีการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนากล้าผ่านทวิตเตอร์ ในเวลา 21.12 น. ของวันที่19 พฤษภาคม 2566 ชี้แจงถึงการร่วมรัฐบาลว่า ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อตกลงร่วมหรือ MOU ซึ่งนโยบายเเละจุดยืนของพรรคก้าวไกลจะเป็นเงื่อนไขหลักในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคชาติพัฒนากล้าจะโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลตามฉันทามติของประชาชน 

พรรคก้าวไกล ชี้แจง

แต่ในท้ายที่สุด เวลา 23.33 น. ในวันเดียวกัน พรรคก้าวไกลได้โพสต์ข้อความแถลงขอโทษผ่านเพจเฟซบุ๊ค ยืนยันฟังเสียงประชาชนไม่ร่วมรัฐบาลชาติพัฒนากล้า

พร้อมระบุว่า กรณีที่พรรคก้าวไกล ได้เจรจากับพรรคชาติพัฒนากล้า เพื่อตกลงโหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมรัฐบาลทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง นั้น

เจ้าหน้าที่พรรค คณะทำงานจังหวัด และสมาชิกพรรค ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถยอมรับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนากล้าได้ ในที่ประชุมร่วมของว่าที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ก็มีมติสอดคล้องกับประชาชนว่าไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน

กรรมการบริหารพรรค จึงน้อมรับมติดังกล่าวมาปฏิบัติ เราจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า และจะเดินหน้าพูดคุยและทำความเข้าใจเพื่อขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ได้เสียงพอในการโหวตนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

พรรคก้าวไกลขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และกราบขออภัยประชาชน ที่ทำให้ทุกท่านผิดหวัง ยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล จะทำบนพื้นฐานจุดยืนทางการเมือง นโยบายหลักของพรรคตามที่ได้เคยหาเสียงไว้ รวมถึงขอโทษพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ต้องยุติการเจรจาครั้งนี้

พรรคก้าวไกล ไม่ร่วมรัฐบาล พรรคชาติพัฒนากล้า

พร้อม ขอบคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค และว่าที่ผู้แทนราษฎรก้าวไกลทุกคน ที่คอยตรวจสอบ ท้วงติงการทำงานของผู้บริหารพรรค เพื่อให้พรรคยืนหยัดในจุดยืน อุดมการณ์เดิมอย่างมั่นคง