ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน ประชาชนเก็บได้ไหม หลังเสร็จเลือกตั้ง 66

14 พ.ค. 2566 | 00:40 น.

ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน ประชาชนเก็บได้ไหม หลังเสร็จเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ทำได้หรือไม่ มีข้อกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้อง ของ กกต. ฐานเศรษฐกิจรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดไว้ที่นี่ชัด

ป้ายหาเสียงเลือกตั้งเก็บได้ตอนไหน ประชาชนเก็บได้ไหม เป็นคำถามที่มีการสอบถามมาอย่างต่อเนื่องว่า หลังจากเสร็จสิ้นวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 แล้ว บรรดาป้ายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีชื่อผู้สมัคร ส.ส. หรือป้ายบอกนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ จะถูกเก็บได้ตอนไหน หรือถ้าเก็บไปจะมีความผิดหรือไม่

คำถามเหล่านี้ ฐานเศรษฐกิจไปหาคำตอบมาให้ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายหาเสียงประชาชนเก็บได้ไหม ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน การเก็บป้ายหาเสียงเลือกตั้งทำได้เมื่อไหร่ มีคำตอบสรุปไว้ให้ที่นี่ครบ

 

ภาพประกอบข่าว ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน ประชาชนเก็บได้ไหม หลังเสร็จเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

 

ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน

ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจนว่า ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน 

โดยการเก็บป้ายนั้นจะต้องเป็นการเก็บ โดยผู้สมัคร ส.ส.เจ้าของป้ายนั้นต้องเป็นผู้เก็บเอง ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้น

ประชาชนเก็บป้ายหาเสียงได้ไหม

ประชาชนไม่สามารถเก็บได้ เพราะถือเป็นทรัพย์สินของผู้สมัคร หรือ เจ้าของป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ในการทำลายป้ายหาเสียง หรือปลดป้ายด้วยตนเอง หากผู้ใดมีพฤติกรรมการทำลายป้ายหาเสียง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มีโทษในอัตราเดียวกัน

 

ภาพประกอบข่าว ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน ประชาชนเก็บได้ไหม หลังเสร็จเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

เก็บป้ายหาเสียงเสี่ยงลักทรัพย์

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึงการเก็บป้ายหาเสียง ว่า ป้ายหาเสียงเป็นทรัพย์สินของผู้สมัคร  ซาเล้ง หรือคนทั่วไปไปเก็บแทน มีข้อหาลักทรัพย์ ยกเว้นเจ้าของป้ายไม่ติดใจเอาความ

ขณะเดียวกันการเก็บป้ายหาเสียงถือเป็นหน้าที่ของผู้สมัคร ต้องตามเก็บป้ายของตัวเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการทำสัญญากับร้านที่ติดตั้งว่า รวมค่าจ้างถอดป้ายด้วย
แต่หากผู้สมัครไม่เก็บป้าย เจ้าของพื้นที่คือ กทม. หรือเทศบาล หรือหน่วยราชการที่ดูแลในพื้นที่จะเป็นผู้จัดเก็บเรียกค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บพร้อมดำเนินคดี ตามกฎหมายรักษาความสะอาด

ส่วนการเอาป้ายไปทำประโยชน์อื่นของประชาชน  เช่น ทำฝาบ้าน บังแดดร้าน หรือเอาไปตัดเย็บกระเป๋า  หากเจ้าของป้ายไม่ได้เป็นการสัญญาว่าจะให้ก็ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

 

ภาพประกอบข่าว ป้ายหาเสียงเก็บได้ตอนไหน ประชาชนเก็บได้ไหม หลังเสร็จเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

 

กกต. กำชับข้อห้ามการหาเสียงเลือกตั้ง

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังแจ้งด้วยข้อพึงระวังไม่ให้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยห้ามผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง