เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เริ่มกี่โมง ถึงกี่โมง วิธีกาบัตร

08 พ.ค. 2566 | 22:15 น.

สรุปรายละเอียด เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เช็คข้อมูลสำหรับผู้ไปใช้สิทธิ เริ่มกี่โมง ถึงกี่โมง ก่อนเข้าคูหา เวลาการเปิด-ปิดหีบเลือกตั้ง วิธีกาบัตรเลือกตั้งที่ถูกวิธีทำยังไง รวมไว้ที่นี่ครบ

เลือกตั้ง 2566” ช่วงเวลาสำคัญของคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้ใช้สิทธิของตัวเองในการเลือกผู้แทนราษฎรเข้าไปทำงานบริหารประเทศ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนด รายละเอียดในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยกำหนดเวลาการเปิด-ปิดหีบเลือกตั้ง เริ่มกี่โมง ถึงกี่โมง เอาไว้อย่างชัดเจน 

ฐานเศรษฐกิจ รวมรวมข้อมูลมาเพื่อให้คนไทยที่เตรียมตัวออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดการเลือกตั้งทั้งหมดก่อนเข้าคูหาเลือกคนที่ใช่ และพรรคที่ชอบ ดังนี้

วันเลือกตั้ง

  • วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 

เวลาเลือกตั้ง

  • ตั้งแต่เวลา 08.00 -17.00 น.

เลือกตั้งพักเที่ยงไหม

  • ไม่มีการพักเที่ยง

 

ภาพประกอบข่าว เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องอายุเท่าไหร่

  • มีสัญชาติไทย หากเคยแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  • ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

หลักฐานในการแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุก็สามารถใช้แสดงตนได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกโดยต้องเป็นบัตรที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

ใช้แอปพลิเคชันแสดงตนได้

หากใครเกิดหลงลืมหรือบัตร หรือหลักฐานข้างต้นไม่อยู่กับตัว สามารถใช้ภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 3 แอปพลิเคชัน ดังนี้

  • แอปพลิเคชัน ThaID (ไทยดี) เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์
  • แอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE เพื่อแสดงใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ 
  • แอปพลิเคชันบัตรคนพิการ เพื่อแสดงบัตรประจำตัวคนพิการอิเล็กทรอนิกส์

 

ภาพประกอบข่าว เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

5 ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบรายชื่อ

ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิทางแอปพลิเคชัน Smart Vote

ขั้นตอนที่ 2 ยื่นหลักฐานแสดงตน

ยื่นบัตรประชาชนหรือหลักฐานแสดงตน ให้กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางเพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน พร้อมลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 3 รับบัตรเลือกตั้ง

รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (บัตรสีม่วง) และ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรเขียว) พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้ว หัวแม่มือขวา บนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท โดยกรรมการประจำที่เลือกตั้งลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง

 

บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (บัตรสีม่วง)

 

บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรเขียว)

 

ขั้นตอนที่ 4 ทำเครื่องหมายกากบาท X

เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง แต่ละประเภท โดยสามารถเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ได้เพียงบัตรละหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดเลยให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครผู้ใด หรือ ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

ขั้นตอนที่ 5 หย่อนบัตรด้วยตนเอง

เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภท ให้เรียบร้อย และหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทให้ถูกต้องด้วยตนเอง

วิธีกาบัตรเลือกตั้ง ที่ถูกวิธีทำยังไง

วิธีกาบัตรเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องกาเครื่องหมาย X ลงในบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

 

วิธีกาบัตรเลือกตั้ง ที่ถูกวิธีทำยังไง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566