ก่อนเลือกตั้งห้ามอะไรบ้าง เช็คก่อนพลาด เลือกตั้ง 2566 อะไรบ้างที่ทำไม่ได้

10 พ.ค. 2566 | 17:27 น.

ก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เรามาเช็คกันสักหน่อยว่า ก่อนการเลือกตั้ง 2566 มีข้อห้ามอะไรบ้าง ที่ไม่ควรทำ หรือ ทำไม่ได้ เพราะหากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง เสี่ยงต้องรับโทษ

วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ใกล้เข้ามา ชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องไปเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิ อิงตามทะเบียนบ้าน คูหาเปิดตั้งแต่ 08.00 ถึง 17.00 น. ก่อนไปใช้สิทธิ เรามาเช็คกันสักหน่อยว่า มี ข้อห้ามอะไรบ้าง ที่เราไม่ควรทำ หรือ ทำไม่ได้ เพราะหากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง เสี่ยงต้องรับโทษ

ข้อที่ประชาชนควรระวังหลักๆ ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ เบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ต้องจดจำให้ดี เพราะในบัตรเลือกตั้ง จะมีแต่เบอร์ผู้สมัครส.ส. แต่ไม่มีข้อมูล ชื่อ-นามสกุล หรือโลโก้พรรค ผู้ใช้สิทธิต้องทำเครื่องหมาย “กากบาท” เครื่องหมายเดียวเท่านั้นในบัตรเลือกตั้งในช่องสำหรับกา เลือกได้เบอร์เดียว หากทำเครื่องหมายอื่น กาหลายเบอร์ หรือเขียนข้อความลงไป จะกลายเป็น “บัตรเสีย” ทันที

ส่วนข้อควรระวังอื่นๆ ที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้ว่าห้ามทำ หากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง เสี่ยงต้องรับโทษ มาดูกันเลยว่า มีข้อห้ามอะไรอีกบ้าง

ศึกษาข้อมูลให้ดี ก่อนออกไปใช้สิทธิอย่างมั่นใจ

ห้ามโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง

ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 (วันก่อนเลือกตั้งหนึ่งวัน) จนจบวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กฎหมายเลือกตั้งกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใด โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองก็ตาม (มาตรา 79)

ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ระบุนิยามของ “การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง” ไว้ตรงๆ จึงต้องอาศัยการตีความ ตัวอย่างของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการโฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมือง ได้แก่

  • ใส่เสื้อ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีสัญลักษณ์โลโก้พรรคการเมือง หรือมีสีและหมายเลขพรรคการเมือง
  • โพสต์ข้อความ อัพโหลดภาพหรือคลิปที่มีเนื้อหา ลงบนโซเชียลมีเดีย
  •  แจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหาเสียง บริเวณใกล้หน่วยเลือกตั้ง

หากฝ่าฝืน โทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 156)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังระบุแนวปฏิบัติในการหาเสียงสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย เช่น ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง หรือผู้ใด ดำเนินการแจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง หรือใช้พาหนะที่ติดป้ายหาเสียง หรือใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดเวทีหาเสียงเลือกตั้ง ณ สถานที่เลือกตั้งด้วย

ห้ามจำหน่าย-แจกสุราในเขตเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้ง ห้ามไม่ให้ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างวันและเวลาดังนี้

วันเลือกตั้งจริง : ห้ามตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 น. ไปจนถึง 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 น.

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 147)

ห้ามพนันขันต่อผลการเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้ง ห้ามเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ ที่เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น  (มาตรา 148)

ถ้าการกระทำดังกล่าว ทำโดยผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง จะมีโทษหนักขึ้น โทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง

โปรดศึกษาข้อห้ามต่างๆ ให้ดี ก่อนเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง

ห้ามเปิดเผยโพลสำรวจความเห็นช่วง 7 วันก่อนเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้ง ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน (7 พฤษภาคม 2566 ถึง 14 พฤษภาคม 2566)

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ห้ามซื้อสิทธิ-ขายเสียง

สำหรับผู้สมัคร ส.ส. หรือบุคคลใดๆ ก็ตาม กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 73 มีข้อห้ามไม่ให้กระทำการจูงให้เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัคร  หรือที่เรียกกันภาษาปากว่า “ซื้อเสียง”

โดยการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้

  1. จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
  2. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
  3. ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ ยกเว้นการใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ
  4. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
  5. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง 

สำหรับผู้ที่ “ซื้อเสียง” หากฝ่าฝืน กรณีที่กฎหมายกำหนดห้าข้อด้านต้น มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 158 - มาตรา 159)

สำหรับผู้แจ้งความนำจับการซื้อเสียง หาก ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา จะได้เงินสินบนนำจับจากจำนวนเงินค่าปรับด้วย โดยศาลจะเป็นผู้สั่งจ่าย

นอกจากนี้ กฎหมายเลือกตั้ง ยังมีข้อห้ามฝั่งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ให้เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน หรือที่เรียกกันว่าการ “ขายเสียง” (มาตรา 101)

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี แต่ถ้าได้แจ้งเบาะแสการซื้อเสียงให้ กกต. ก็ไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 164) 

ห้ามจัดรถเกณฑ์คนไปเลือกตั้ง เพื่อจูงใจ-ควบคุมให้เลือกผู้สมัคร ส.ส. คนใด

กฎหมายเลือกตั้ง ยังห้ามไม่ให้จัดยานพาหนะ นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป-กลับจากการลงคะแนนในที่เลือกตั้ง โดยไม่เสียค่าโดยสาร เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด (มาตรา 76)

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 158)

อย่างไรก็ดี หากเป็นการจัดยานพาหนะฟรีไม่เสียค่าโดยสาร เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป-กลับจากหน่วยเลือกตั้ง ตามปกติประเพณี โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดก็สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง เช่น พาเพื่อนบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงไปรถคันเดียวกัน โดยไม่ได้จูงใจหรือควบคุมให้ลงคะแนนเสียงผู้สมัคร ส.ส. คนไหน

นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่หน่วยงานรัฐ จัดยานยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิ ตามที่ กกต. กำหนด ไม่เข้าข่ายกรณีนี้ ทำได้ปกติไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง 

ห้ามผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เอาบัตรประชาชนของคนอื่น/ปลอมแปลง ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

สำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ได้แก่

  • ผู้ที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 

กฎหมายเลือกตั้ง ห้ามไม่ให้บุคคลดังกล่าว พยายามจะใช้สิทธิเลือกตั้งโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่เป็นของคนอื่น หรือที่ปลอมแปลงขึ้นมา ต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (มาตรา 94)

นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามผู้ที่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น พยายามจะใช้สิทธิเลือกตั้งโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่เป็นของคนอื่น หรือที่ปลอมแปลงขึ้นมา เพื่อที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตที่ตัวเองไม่ได้มีสิทธิ ตัวอย่างเช่น มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัด ราชบุรี เขต 1 แต่พยายามใช้สิทธิเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตเลือกตั้งสมุทรปราการ เขต 1 

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 158) 

ห้ามใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งที่รับจากเจ้าหน้าที่

ห้ามใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งที่รับจากเจ้าหน้าที่

สำหรับข้อห้ามเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้ดําเนินการเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง (มาตรา 95 วรรคแรก) บัตรปลอม บัตรที่พิมพ์มาเอง หรือได้มาจากคนอื่น ใช้ไม่ได้

หากฝ่าฝีน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 163) 

ห้ามนำบัตรเลือกตั้ง ออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง

ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนําบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง (มาตรา 95 วรรคสอง)

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 164) 

ห้ามทำเครื่องหมายเป็นจุดสังเกตในบัตรเลือกตั้ง

ห้ามไม่ให้จงใจทําเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดก็ตาม ไว้ที่บัตรเลือกตั้ง (มาตรา 96)

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 164) 

ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว

ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว (มาตรา 97)

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 165) 

ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งที่กาแล้วให้คนอื่นเพื่อให้ทราบว่าเลือกใคร

ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเสียงแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด (มาตรา 99)

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 165) 

ห้ามขัดขวาง-หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวจนทำให้ผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปถึงหน่วยเลือกตั้งได้ หรือทำให้ไปใช้สิทธิไม่ทันเวลา (มาตรา100)

หากฝ่าฝืน ระวางโทษที่ลงแก่ผู้ที่ขัดขวางนี้ มีโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี  (มาตรา 164) 

ห้ามนายจ้าง ขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างไปเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้างที่กระทำการขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรแก่ลูกจ้างในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีโทษถึงจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา 142)

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติศลต.ตร.  เตือนว่า ตามกฎหมายการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 สามารถโฆษณาหาเสียงได้ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น

ศลต.ตร. จึงเน้นย้ำในเรื่องของการงดเว้นแสดงสัญลักษณ์ที่เข้าข่ายเป็นการโฆษณาหาเสียง โดยการสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า หมวก ที่มีโลโก้ หมายเลข สัญลักษณ์พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส.ส. ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง และคูหาเลือกตั้ง เพราะอาจถือเป็นการโฆษณาหาเสียง เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

จะเห็นได้ว่า มีข้อห้ามมากมายเกี่ยวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งในวันก่อนเลือกตั้งและวันเลือกตั้งจริง ศึกษาข้อมูลไว้ก่อน ช่วยให้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม อย่าลืมว่าการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เสี่ยงต้องรับโทษ

 

ข้อมูลจาก โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ILaw)