การเดินทางของ “บัตรเลือกตั้ง 2566” กาแล้วไปไหน นับคะแนนเมื่อไหร่ 

08 พ.ค. 2566 | 17:30 น.

บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อกาแล้วไปอยู่ที่ไหน และเมื่อถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ขั้นตอนนับคะแนนเป็นอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

 

ไขข้อสงสัย "บัตรเลือกตั้ง"ที่กาแล้วในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. ยังไม่นับคะแนน จะถูกส่งไปเก็บรักษาในสถานที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง จากนั้นจึงนับคะแนนในวันเลือกตั้งจริง (14 พ.ค.2566) ซึ่งมี ลำดับขั้นตอนการนับคะแนน และ การประกาศผล 

สิ่งที่มักจะเป็นคำถามสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คือ บัตรเลือกตั้งที่กาไปแล้ว จะถูกนับคะแนนอย่างไร เพราะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลายเขตหลายจังหวัดมาใช้สิทธิในที่เดียวกัน

กรณีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง

เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น. คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง จะดำเนินการปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้งของหีบบัตรทั้ง 2 ประเภท แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ ณ ที่ปลอดภัย ตามที่คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งกำหนด โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และมีการติดกล้องวงจรปิดตลอดระยะเวลา เพื่อรอการนำไปนับคะแนนในเวลา 17.00 น. ของวันเลือกตั้ง (14 พฤษภาคม 2566)

กรณีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง

เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น. คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง จะทำการตรวจนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง นำส่งผู้แทนบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำส่งไปยังเขตเลือกตั้งที่ระบุไว้บริเวณซองใส่บัตร เพื่อให้คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งเก็บรักษาไว้ และมีการติดกล้องวงจรปิดตลอดระยะเวลา ณ ที่ปลอดภัย โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อรอให้คณะกรรมการนับคะแนนนำไป นับคะแนนในเวลา 17.00 น. ของวันเลือกตั้ง (14 พฤษภาคม 2566)

การออกเสียงลงคะแนนในวันเลือกตั้ง (14 พฤษภาคม 2566)

กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจะตรวจรับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท จากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อจัดสรรให้กับทุกหน่วยเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งจะมอบบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภทให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้ลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เมื่อถึงเวลา 17.00 น. คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง จะปิดหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อทำการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งนั้นๆ

บัตรเลือกตั้งที่เหลือ

เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในวันเลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค.2566) และในวันเลือกตั้ง (14 พ.ค.2566) คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง จะดำเนินการเจาะทำลายบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไม่เต็มเล่ม และบัตรเลือกตั้งที่เหลือเต็มเล่มทั้งหมด เพื่อมิให้สามารถนำไปใช้ได้อีก ทั้งนี้ กรณีบัตรเลือกตั้งสำรองที่เก็บรักษาไว้ก็จะนำมาเจาะทำลาย เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในวันเลือกตั้งด้วยทั้งหมด

ทั้งนี้ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 กำหนดขั้นตอนการจัดการกับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และ การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไว้ สรุปได้ ดังนี้

1. ทำลายบัตรเลือกตั้งที่เหลือ

หลังจากถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 17.00 น. บัตรเลือกตั้งที่เหลือ ไม่ว่าจะเต็มเล่มหรือไม่เต็มเล่ม จะถูกทำลายด้วยการใช้โลหะแทงกลางบัตรเลือกตั้งทะลุทุกฉบับรวมปกหน้า-หลัง จากนั้นใช้เชือกร้อยรูผูกรวมให้เป็นปึกเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเลือกตั้งนั้นถูกนำไปใช้ได้อีก

2. นับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง

เจ้าหน้าที่ (คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งนอกเขต) จะเปิดหีบเลือกตั้งเพื่อนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วนำไปบรรจุในถุงพลาสติกใส และเขียนบัญชีจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้งว่ามีกี่ใบ

3. ส่งบัตรเลือกตั้ง

การส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า จะมีบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ไปรษณีย์ไทย) เป็นผู้รับผิดชอบหลักๆ ในการขนส่ง โดยไปรษณีย์ไทย จะมารับซองใส่บัตรเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งบัญชีจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามที่ระบุไว้หน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง

4. ปลายทางตรวจสอบจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง

เมื่อซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกส่งถึงปลายทางให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ระบุไว้หน้าซอง จะมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย (คณะกรรมการการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง) ดำเนินการรับและตรวจนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้งจากไปรษณีย์ไทย ว่าตรงตามตัวเลขในจำนวนบัญชีซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ต้นทางส่งมาหรือไม่ จากนั้นก็จะทำบัญชีรับมอบซองใส่บัตรเลือกตั้ง

หลังตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำซองใส่บัตรเลือกตั้งใส่หีบบัตรเลือกตั้งที่เตรียมไว้ และปิดหีบเลือกตั้งโดยใส่สายรัด พร้อมทั้งลงลายมือชื่อกำกับบนสายรัดด้วย จากนั้นจึงนำหีบที่บรรจุซองใส่บัตรเลือกตั้งไปเก็บรักษาไว้ที่ปลอดภัย ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

5. ประกาศสถานที่นับคะแนน

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะประกาศสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่ได้รับมา ดังนั้น สถานที่นับคะแนนเลือกตั้งสำหรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต อาจไม่ใช่สถานที่เดียวกันกับผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันจริง 14 พฤษภาคม 2566 ก็ได้

6. แกะซองใส่บัตรเลือกตั้ง ก่อนนับคะแนน

ในวันที่ 14 พ.ค. 2566 เมื่อถึงเวลา 17.00 น. แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ไปเบิกหีบมาจากที่เก็บรักษาไว้ นำไปยังสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง

ก่อนการนับคะแนน เจ้าหน้าที่จะเปิดหีบซองใส่บัตรเลือกตั้งเพื่อตรวจนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วเปิดซองออก นำบัตรเลือกตั้งออกจากซอง ใส่บัตรในหีบแยกตามประเภทของบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งเขต กับบัญชีรายชื่อ

7. เริ่มนับคะแนน

หลังจากจัดการแกะซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อย ก็จะถึงขั้นตอนดำเนินการนับคะแนน โดยจะแบ่งเจ้าหน้าที่ (กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง : กปน.) ออกเป็นสองชุด ชุดแรก นับคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขต ชุดที่สอง นับคะแนนบัญชีรายชื่อ

โดย กปน. ของแต่ละชุด ก็จะถูกแบ่งบทบาทอีกเป็นรายคน ดังนี้

คนแรก : หยิบบัตรเลือกตั้งทีละใบ และส่งให้คนที่สอง

คนที่ 2 : ดูบัตรเลือกตั้งและอ่านผล

ถ้าเป็นบัตรดี จะอ่านว่า “บัตรดี” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนน/เลขเบอร์พรรคการเมือง

ถ้าเป็นบัตรเสีย จะอ่านว่า “บัตรเสีย”

ถ้าเป็นบัตรที่กาในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ก็จะอ่านว่า “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

ทั้งนี้ กปน. ก็จะชูบัตรเลือกตั้ง เปิดเผยให้คนที่อยู่บริเวณนั้นสามารถเห็นคะแนนได้

คนที่ 3 : ขานทวนคะแนนที่คนที่สองอ่าน และขีดคะแนนลงบนกระดานนับคะแนน โดยจะขีดเป็นหนึ่งขีดต่อหนึ่งคะแนน เมื่อถึงขีดที่ห้าจะต้องขีดขวางทับสี่เส้นแรง และใส่วงกลมหรือวงรีล้อมรอบ ดังนั้น หนึ่งวงกลม/วงรี = ห้าคะแนน

คนที่สี่ : เจาะบัตรเลือกตั้งที่ถูกอ่านแล้ว ใส่ลงในภาชนะเก็บบัตร

8. สรุปผลคะแนนที่นับ

เมื่อนับคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว กปน. จะเช็คอีกรอบ โดยนับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนทั้งหมด ว่าตรงกับจำนวนที่ระบุไว้ในบัญชีหรือไม่

จากนั้นก็จะจัดทำรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งสามชุด โดยจะต้องมีหนึ่งชุดที่ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งด้วย

9. รวมผลคะแนนภายในเขตเลือกตั้ง ประกาศบนเว็บกกต.จังหวัด ภายใน 5 วัน

หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง ภายในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่

1) ผลคะแนนจากการใช้สิทธิเลือกตั้งวันจริง

2) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต

3) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต

4) ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร

หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง เป็นจำนวนสามชุด ดังนี้

ภายใน 5 วันนับจากวันเลือกตั้งที่ 14 พฤษภาคม 2566 (หรือภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก็จะเผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการนับคะแนน ในเว็บไซต์ของกกต. จังหวัด หลังจากนั้น ก็จะเป็นกระบวนการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ต่อไป