เปิดนโยบายเศรษฐกิจ “รวมไทยสร้างชาติ” โค้งสุดท้ายสู้เลือกตั้ง

05 พ.ค. 2566 | 10:16 น.

สัมภาษณ์พิเศษหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รวมไทยสร้างชาติ “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” เปิดนโยบาย โค้งสุดท้ายสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 ดึงลงทุนสร้างรายได้ 4 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ภาค 2

“ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” แคมเปญหาเสียงหลักของ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่หลายคนได้ยินติดหูเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 ควบคู่กับการออกนโยบายด้านเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง โดยมีเป้าหมายดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ขึ้นมาเป็นนายกฯ อีกสมัย เพื่อสานงานต่อ

สำหรับนโยบายหลักด้านเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์พิเศษหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รทสช. “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” เพื่อเปิดนโยบายสำคัญของพรรคในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนถึงวันเข้าคูหากาคนที่ใช่ และพรรคที่ชอบ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดนโยบายเศรษฐกิจ รวมไทยสร้างชาติ ทำต่อดึงลงทุน หนุน BCG

 

เปิดนโยบายเศรษฐกิจ “รวมไทยสร้างชาติ” โค้งสุดท้ายสู้เลือกตั้ง 2566

ภารกิจทำต่อหารายได้ 4 ล้านล้าน

ม.ล.ชโยทิต เริ่มต้นว่า นโยบายหลักของพรรค พร้อมทำต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะการออกนโยบายการหาเงินเข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ และไม่ใช่ความฝัน เพราะเมื่อดูแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศมีทิศทางเป็นบวก 

ภายใต้นโยบายการหารายได้มีการวางแผนดึงการลงทุน และอุตสาหกรรมที่เริ่มทยอยเข้ามาลงทุนในหลายอุตสาหกรรม ดังนี้

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV  3.6 แสนล้านบาท 
  • สมาร์ทอิเล็กทรอกนิกส์ 7 แสนล้านบาท 
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล 3 แสนล้านบาท 
  • การลงทุนพลังงานสะอาดและพลังงานไฮโดรเจนจากซาอุดิอาระเบียประมาณ 6 แสนล้านบาท 
  • การดึงต่างชาติที่มีทักษะและรายได้สูงเข้ามาอยู่ในไทยผ่านวีซ่าระยะยาว (LTR) ตั้งเป้าหมายดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในไทยอย่างน้อย 5 แสนคน สร้างการใช้จ่ายเงินรวมกันประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี   

พรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า หากเป็นรัฐบาลจะทำต่อในเรื่องของการดึงดูดการลงทุน พร้อมเพิ่มวงเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก 1 หมื่นล้านบาทเป็น 3 แสนล้านบาท เพื่อดึงอุตสาหกรรมต้นน้ำขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายเจ้าสนใจเข้ามาในไทยแล้ว และเงินที่รัฐบาลใส่ลงไปเชื่อได้ว่าคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์แน่นอน

 

เปิดนโยบายเศรษฐกิจ “รวมไทยสร้างชาติ” โค้งสุดท้ายสู้เลือกตั้ง 2566

ตั้งกองทุน 2 แสนล้านช่วย SME

นอกเหนือจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังมีนโยบายการใช้กลไกกองทุนต่าง ๆ ที่มีความคล่องตัวคอยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ เช่น การตั้งกองทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐ รูปแบบกองทุนนี้จะระดมทุนในประเทศ ผ่านการขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน โดยมีผลตอบแทนในรูปเงินปันผล และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในลักษณะคล้าย ๆ กับกองทุนรวมระยะยาว (LTF) 

สำหรับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2 แสนล้านบาท จะแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ คือ 

  1. กองทุนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ SME วงเงิน 1 แสนล้านบาท 
  2. กองทุนปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจ SME วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท 
  3. กองทุน BCG วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
  4. กองทุนธุรกิจสร้างสรรค์ และธุรกิจสตาร์ทอัพ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันในการส่งเสริมการลงทุนนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติยังพร้อมส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อเนื่อง โดยต่อยอดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่งประเทศ ทั้ง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อกระจายความเจริญ และสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ในพื้นที่

นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน

นอกจากการหารายได้ และเสริมสภาพคล่องกับภาคธุรกิจแล้ว ในส่วนของการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต่อเนื่องมาจากการระบาดของโควิด19 พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบายชัดเจนในการนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชน ดังนี้

  • การแก้ไขหนี้ส่วนบุคคล “รหัส 21”  ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เกิดโควิด-19  มีคนประมาณ 30 ล้านราย มูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท
  • การแก้หนี้เช่าซื้อรถยนต์ โดยการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อให้ชำระดอกเบี้ยต่ำลงจากเดิม เพื่อลดภาระของลูกหนี้รายได้น้อย 
  • การแก้ปัญหานี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 6.8 ล้านราย ที่เสียดอกเบี้ยอยู่ 7-8% โดยจะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0.5% พร้อมแก้ปัญหาให้คนที่ค้ำประกัน 3 ล้านคน  
  • การแก้ปัญหาหหนี้ของสหกรณ์ที่มีการกู้ยืมและคิดดอกเบี้ยสูง ทั้ง สหกรณ์ครู และตำรวจ 
  • การแก้หนี้ภาคเกษตร

 

เปิดนโยบายเศรษฐกิจ “รวมไทยสร้างชาติ” โค้งสุดท้ายสู้เลือกตั้ง 2566

 

คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ภาค 2 

นอกจากการแก้ไขแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังมีความจำเป้นต้องทำ หากพรรคเข้ามาเป็นรัฐบาล คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีโครงการขวัญใจมหาชนที่ทำมาแล้วและประสบความสำคัญ คือ การเติมเงิน “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งคราวนี้จะเป็นภาคที่ 2 ใช้เงินรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยโครงการ “คนละครึ่ง” กำหนดสิทธิไว้ 26 ล้านสิทธิ ส่วน “เราเที่ยวด้วยกัน” เน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง

เช่นเดียวกับการออกนโยบายเกี่ยวกับการดูแลสวัสดิการประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ผ่าน “บัตรสวัสดิการพลัส” คล้ายกับที่ทำมาในรัฐบาลปัจจุบัน โดยเพิ่มเงินเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน รวมปีละ 12,000 บาท และให้เบิกเงินฉุกเฉินล่วงหน้าได้ 10,000 บาท โดยกู้ยืมจากสถาบันการเงินของรัฐมาดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

“การวางนโยบายเศรษฐกิจ ต้องวางแผนที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่าการไปกระตุ้นด้วยการแจกเงินอย่างเดียว อยากที่มีการพูดว่า เศรษฐกิจไม่ดีต้องไปถามกลับว่าเอาข้อมูลตรงไหนมาเปรียบเทียบ ทั้งที่วันนี้ตัวเลขที่ออกมาบอกแล้วว่า ที่ทำมาเศรษฐกิจฟื้นตัว และสถานะของประเทศวันนี้มีเงินออมสูงมากกว่าเงินกู้ สิ่งนี้คือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย การบิดเบือนข้อมูลต่างๆน่าเสียใจ คือในระหว่างการหาเสียงมีการนำข้อมูลมาห้ำหั่นด้อยค่าประเทศ ไม่มีความเป็นจริงเป็นหลัก อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้” กล่าวทิ้งท้าย