เปิดนโยบายเศรษฐกิจ รวมไทยสร้างชาติ ทำต่อดึงลงทุน หนุน BCG

13 เม.ย. 2566 | 02:14 น.

เปิดนโยบายเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) สู้ศึกเลือกตั้ง 2566 “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” ตอบทุกนโยบายสำคัญของพรรค ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ทั้งการค้า การลงทุน หนุน BCG

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นอีกหนึ่งพรรคที่อยู่ในความสนใจของคอการเมือง โดยเฉพาะการออกนโนบายด้านเศรษฐกิจ เพื่อสู้ศึก เลือกตั้ง 2566 โดยไม่นานมานี้ รทสช. ที่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศตั้งทีมเศรษฐกิจของพรรค โดยมี ม.ล.ชโยทิต กฤดากร เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ 

พร้อมกันนี้ยังตั้งที่ปรึกษาประจำทีมเศรษฐกิจอีกหลายคน เพื่อจัดทำนโยบายหาเสียง นำโดย 

“ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” ประธานที่ปรึกษานโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจมหภาค 

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลปัจจุบัน ดูแลด้านการแก้ปัญหาปากท้อง นโยบายพลังงาน

“จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลด้านการช่วยเหลือสวัสดิการสังคม กลุ่มคนเปราะบางและผู้สูงวัย

”อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลนโยบายด้านการเกษตร 

“สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ดูแลนโยบายด้านแรงงาน 

“พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ ดูแลด้านนโยบายสุขภาพ 

 

ทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

สำหรับนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ล่าสุด ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เปิดเผยนโยบายทั้งหมดกับฐานเศรษฐกิจว่า พรรคได้จัดทำนโยบายเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง ประชาชนทุกกลุ่มภายในประเทศมีสวัสดิการที่ที่ดีขึ้น สังคมมีความก้าวหน้าไปสู่ศตวรรษที่ 21 และสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน 

ที่สำคัญคือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” บนพื้นฐานนโยบาย “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ 

นโยบายด้านการค้าการลงทุน

นโยบายด้านแรกคือ นโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนของประเทศ โดยวางกรอบนโยบายอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ 

โดยการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ขนส่งทางราง เชื่อมโยงกันเพื่อการขนส่งที่สะดวก โครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณูปโภค รวมถึงด้านดิจิทัล เช่นการเป็นศูนย์กลางการเก็บข้อมูลที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 

 

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

หลายโครงการทำแล้ว

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ทำไปแล้วนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมที่ไทยมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในเวทีโลกอย่างสง่างามได้ และมีโครงสร้างด้านดิจิทัลเพื่อช่วยกระจายข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ลดความเหลื่อมล้ำของความรู้และโอกาสให้กับคนในประเทศทุกหนแห่ง

“เราจะมุ่งใช้นโนบายเชิงรุกดึงเอาความสามารถทางการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ เช่น พลังงานสะอาดที่ มีความต้องการอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรม และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศมาทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบ และมีความสามารถทางการแข่งขันในการเป็นฐานการผลิตที่สะอาดของโลก ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนทำมาก่อน และจะเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ในการกลับไปยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลกได้อีกครั้ง”

 

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

 

ดันเศรษฐกิจ Zero Carbon

ม.ล.ชโยทิต บอกกับฐานเศรษฐกิจด้วยว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้กำหนดนโยบาย และ roadmap ที่ชัดเจนทางด้านคาร์บอน โดยจะทำให้ประเทศเป็น Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2050 ผ่านมาตรการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดที่จะไม่มีการใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ.2030 โดยในปี ค.ศ.2040 ประเทศไทยจะใช้พลังงานสะอาดถึง 50% 

ทั้งนี้จะช่วยดึงดูดให้อุตสาหกรรมต่างๆและบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุน ทำให้ไทยจะเป็นฐานการผลิตของโลกที่มีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ รวมถึงอุตสาหกรรม S-curve ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนทั่วโลก 

ปัจจุบันการที่ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการ และมีแผน Roadmap ที่ชัดเจนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ทำให้บริษัทดิจิทัลแพลทฟอร์มระดับโลกต่างๆไม่ว่าจะเป็น Google หรือ AWS (Amazon Web Services) ก็ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะทุกบริษัทต้องการพลังงานสะอาด 

นอกเหนือไปจากนั้นอุตสาหกรรม EV  จากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป และจีน ก็ได้มีการตอบรับมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแล้ว 

 

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

 

ดึงอุตสาหกรรมต้นน้ำลงทุน

ขณะที่ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำที่ผลิตเวเฟอร์ ชิป (Wafer Fabrication) จากต่างประเทศก็กำลังดำเนินการของ BOI อยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของไทยที่จะดึงดูดให้ทุกอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นแต้มต่อของประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI มีมูลค่ามาถึง 6.6 แสนล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด

กางระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

นอกเหนือจากนี้สิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอที่กำลังจะทำต่อ และมีความสำคัญมากนั้นคือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปทั่วประเทศไทย โดยในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจจะมีการสนับสนุนให้เป็นหัวใจสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคผ่าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy หรือเศรษฐกิจแห่งความยั่งยืน 

สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกแล้วนั้น จะช่วยในการสร้างรายได้ให้ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ช่วยสร้างเศรษฐกิจศูนย์รวมอุตสาหกรรมใหม่ สร้างศูนย์รวมความกินอยู่ที่ดี และสร้างศูนย์รวมแห่งความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนและสร้างอุปสงค์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ 

ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา ทาง BOI ได้อนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BCG แล้วถึง 6แสนล้านบาท 

นโยบายส่งเสริม SME – การค้าต่างประเทศ

พรรครวมไทยสร้างชาติยังส่งเสริม SME โดยสนับสนุนให้ภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างโยมีสัดส่วนของ SME ถึงร้อยละ 50 และยังมีกองทุน e-factoring และกองทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านแหล่งเงินทุนให้กับ SME โดยนำเอา LTF หักภาษีเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย 

นอกจากนี้ในด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกเหนือจาก FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์สูงสุดแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติยังสนับสนุนและพลักดันให้สินค้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดของไทยได้รับสิทธิพิเศษ Green Lane กับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและ OECD อีกด้วย

 

ทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)