“ดร.ณัฎฐ์”ฉะ“ไพศาล”ชี้การตราพ.ร.ฎ.ยุบสภา ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบต่อ ครม.

13 มี.ค. 2566 | 10:10 น.

“ดร.ณัฎฐ์” ฉะ “ไพศาล พืชมงคล” ชี้การตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาไม่ต้องผ่านความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี เหตุผลในการยุบสภาไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมกำหนด

วันนี้(13 มี.ค.66) กรณี นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol จับตา ครม.จะให้ยุบสภาหรือไม่ ทั้ง 4 ข้อ ในทำนองเหตุผลในการยุบสภาต้องผ่านมติเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่คณะรัฐมนตรี...” นั้น

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชน ได้คลายปมข้อสงสัยในปัญหาข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 
โดยได้อธิบายและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนที่น่าสนใจ ว่า  เท่าที่ติดตามข่าว นายไพศาล พืชมงคล อ้างว่าเป็นกูรูกฎหมาย รู้ทุกเรื่อง ที่ไม่รู้คือ เรื่องของตัวเอง โพสต์ไปเรื่อย ทำให้ประชาชนสับสนในข้อเท็จจริงว่า เหตุผลในการยุบสภาตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี สามารถยุบสภาได้หรือไม่ ด้วยเหตุผลในการยุบสภาอย่างไร พระราชกฤษฎีกาจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือไม่ 

“ผมไม่เข้าใจว่า นักข่าวจะหยิบประเด็นนี้มานำเสนอข่าวไปทำไม ทำให้ประชาชนผู้สนใจทางการเมือง สับสน ทำให้นักการเมืองที่กำลังจะลงสนามเกิดความกลัว ทำไมนายไพศาล ไม่เสนอตัวลงสมัคร ส.ส. อยากรู้ว่าจะได้กี่คะแนน การให้ความเห็นทางกฎหมาย สามารถกระทำได้ หากเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประเทศชาติโดยรวม” 

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่เคยรู้จักกับนายไพศาล มาก่อน แต่ติดตามจากข่าว ทำให้ต้องออกมาพูดให้ประชาชนตาสว่าง และมุมมองกฎหมายมหาชน ซึ่งกลไกในระบบรัฐสภา และเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนไว้แล้ว หากไม่ได้บัญญัติไว้ มาตรา 5 วรรคสอง เมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใช้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำนั้นตามประเพณีการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การยุบสภา เป็นเครื่องมือสำคัญ ใช้เป็นกลไกทางรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 103 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มีองค์ประกอบทางกฎหมาย 6 ประการ ดังนี้ ดังนี้ 

1.การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นได้ ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีเสนอเท่านั้น 

2..การยุสภาต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา 

3.การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียว 

4.การยุบสภาจะมีได้เฉพาะก่อนสิ้นอายุสภาผู้แทนราษฎร 

5.การยุบสภาทำให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นลง รวมถึงคณะรัฐมนตรีด้วย 

6.การยุบสภานำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ 

อำนาจในการยุบสภา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 103 วรรคหนึ่ง พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่เป็นการทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอพระราชกฤษฎีกายุบสภาเท่านั้น ถึงจะใช้พระราชอำนาจได้  

การยุบสภาเป็นอำนาจนาจการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว เป็นเงื่อนไขบังคับก่อน  ไม่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี เพราะผลทางกฎหมาย หากยุบสภา คณะรัฐมนตรีย่อมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167(2) 

ส่วนเครื่องมือทางกฎหมาย ฝ่ายบริหารจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกายุบสภา มีสถานะต่ำกว่าพระราชบัญญัติ โดยไม่ต้องขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ 

อีกประการหนึ่ง  หาก พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เลือกใช้ช่องทางโดยการแถลงข่าวด้วยวาจา โดยยุบสภาผู้แทนราษฎร ย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมาย ส่งผลให้การยุบสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีพ้นทั้งคณะ แต่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 

แต่มีข้อห้ามบางประการ  ตามที่นายไพศาล อ้างว่า การตราพระราชกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรีจึงต้องมีมติ (เห็นชอบร่วมกัน) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระบรมราชโองการให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกา นายไพศาล เข้าใจระดับชั้นของการของกฎหมายและกระบวนตรากฎหมายในระดับชั้นพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ การยุบสภาโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ไม่จำต้องผ่านเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นชั้นความลับ 

จะให้เห็นภาพได้ชัดเจน กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงแรงงาน ถูกปลดจากตำแหน่งโดยนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171  ไม่เห็นต้องไปขอคำปรึกษารัฐมนตรีรายใด ทั้งการยุบสภาไม่ใช่เป็นการตราพระราชกำหนด อันเนื่องความจำเป็นเร่งด่วน ภัยพิบัติของประเทศ ถือว่าเป็นกลไกลระบบรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับที่เขียนไว้ รวมถึงฉบับปัจจุบันนี้ด้วย 

ส่วนเหตุผลในการยุบสภา ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 วรรคสอง หาได้มีบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติไว้ไม่ จึงต้องเป็นไปตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย ตลอดจนถึงสภาวการณ์ของประเทศในบริบทขณะนั้น 

จะยกตัวอย่างเหตุผลในการยุบสภาให้ นายไพศาล และพี่น้องประชาชนเห็นให้ชัดแจ้ง จะได้ไม่สับสบในปัญหาข้อกฎหมาย ยกตัวอย่าง 

1. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 สมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี อ้างเหตุผลในการยุบสภา เพราะเหตุขัดแย้งภายในรัฐบาล 

2.เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 รัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี อ้างเหตุผลในการยุบสภาเพราะปฎิบัติภารกิจตามเป้าหมายเสร็จแล้ว เหตุผลที่ยกตัวอย่างของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะในครั้งหลัง ท่านใช้เหตุผลในการยุบสภา และวันยุบสภาใกล้ครบอายุรัฐบาล ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ 

“เท่าที่ติดตามข่าว เห็นนายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และ สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย พยายามตีกินทางการเมือง ไม่ได้อยู่บนหลักการของกฎหมาย ทำให้สังคมสับสน  ว่า เหตุผลในการยุบสภาไม่มีแล้ว ตกเป็นโมฆะ เวลา นายไพศาล และ นายสมชัย อ่านรัฐธรรมนูญ อ่านไม่ครบทุกมาตรา” 

โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 175 เป็นพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ ในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นการยับยั้งอำนาจฝ่ายบริหาร เป็นกลไกระบบรัฐสภา เป็นกระบวนการกลั่นกรองก่อนลงนามพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์  

“ถามกลับนายไพศาล และ นายสมชัยฯ สมัยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นใครไปคัดค้านเลยว่า เหตุผลในการยุบสภาตกเป็นโมฆะ เท่าที่ติดตามข่าว ผมเห็นมีเหตุผลเดียว คือ ดิสเครดิสทางการเมือง พรรคการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปสังกัดเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผมขอท้าดีเบตรัฐธรรมนูญประเด็นยุบสภา กับเหตุผลในการยุบสภา กับ นายไพศาล และ นายสมชัย มาพร้อมกันทั้งสองคนเลย ผมไม่เกี่ยง ทีวีช่องไหน วันเวลาใด  ให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนช่วยแชร์ข่าวให้ถึง นายไพศาล และนายสมชัยด้วย” 

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่า เหตุผลในการยุบสภา รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเหตุการณ์ไว้  พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี สามารถอ้างเหตุผลในการยุบสภาตามบริบทสภาวการณ์ของประเทศในขณะนี้ได้  

ส่วนในกรณีนายไพศาล อ้างว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแถลงต่อว่า การประชุมที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาเรื่องยุบสภา เท่าที่ติดตามข่าว นักข่าวถามเรื่องวันยุบสภา นายวิษณุฯ ก็ตอบคำถามถูกต้องแล้ว เพราะการกำหนดวันยุบสภา และเหตุผลในการยุบสภา เป็นความลับและเป็นดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จำต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ  

"พูดภาษาชาวบ้าน คือ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี โดยวันยุบสภาและเหตุผลในการยุบสภาไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพราะการยุบสภา มีผลทำให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพตามมาตรา 170"