ชัดแล้ว! นายกฯ ยุบสภา 20 มีนาคม เตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

10 มี.ค. 2566 | 08:35 น.

ชัดเจนแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เตรียมประกาศยุบสภา 20 มีนาคม 2566 พร้อมลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่กลางปีนี้

เริ่มมีความชัดเจนขึ้นมาเรื่อย ๆ กับทิศทางทางการเมืองภายหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศออกมาชัดเจนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาว่า เตรียมประกาศ "ยุบสภา" ต้นเดือนมีนาคม 2566 

พร้อมทั้งยืนยันว่า การเลือกตั้งทั่วไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเป็นการประกาศยุบสภาก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร จะครบวาระอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มีนาคม 2566 

ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงความชัดเจนเรื่องยุบสภาว่า ขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สรุปวันเวลาที่จะยุบสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นคือ วันที่ 20 มีนาคม 2566 นี้ โดยจะมีการประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ขั้นตอนหลังจากนายกฯ ประกาศยุบสภา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 103 ระบุว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ทั้งนี้ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

 

ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง 2566 กกต.

ครม.ทำหน้าที่ต่อได้ไหม

หลังจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร มีผลบังคับใช้แล้ว การทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังสามารถทำงานต่อได้หรือไม่ ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ยุบสภาแล้วก็ยังประชุมครม.ได้ 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการประชุมครม.ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้

1.ไม่อนุมัติงาน หรือโครงการที่สร้างความผูกพันกับ ครม.ชุดใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว 

2.ไม่แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน หรือ มีการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน

3.ไม่อนุมัติการใช้งบกลาง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน 

4.ไม่ใช้ทรัพยากร หรือ บุคลากรของรัฐกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต. กำหนดไว้ดังนี้

  • ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
  • ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะที่จะเป็นการแจกจ่ายให้กับประชาชน
  • ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ
  • ไม่มีการประชุม ครม.สัญจร เป็นต้น