นักวิชาการวิเคราะห์ เพื่อไทย ตัวแปร ก้าวไกล ตั้งรัฐบาลไม่ได้

17 พ.ค. 2566 | 08:41 น.
อัพเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2566 | 09:11 น.

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์ พรรคเพื่อไทย ตัวแปร พรรคก้าวไกล ตั้งรัฐบาลไม่ได้ สัญญานชัดหลังเลือกประธานสภา แนะก้าวไกลลดการท้าชนเพื่อหาแนวร่วม

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ได้เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคก้าวไกลมีจำนวนส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และพร้อมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอดีต 5 พรรคร่วมฝ่ายค้าน 310 เสียง ว่า

"พรรคก้าวไกลจะได้จัด แต่จัดไม่ได้" เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการของพรรคก้าวไกลที่มีความชัดเจนในการประสานงานกับทางวุฒิสภา (ส.ว.) ท่าทีของสมาชิกพรรค และแฟนคลับที่ออกมาในทางกดดัน และพร้อมชนกับส.ว.มากกว่า ซึ่งไม่ควรเป็นการแสดงท่าทีออกมาจากสมาชิกพรรคในระดับแกนนำ

อ.ธนพร กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องเข้าใจว่า ขณะนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาของการเป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นช่วงเวลาที่พรรคก้าวไกลต้องการการสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ในขั้วตรงกันข้าม หรือเห็นไม่ตรงกัน หรือไม่เข้าใจ หันมาสนับสนุนด้วยวิธีแบบนี้ ถือว่าไม่เหมาะสมหากยังมีท่าทีเช่นนี้ คุณพิธาจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกฯ 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลให้ประสบความสำเร็จ พรรคก้าวไกลต้องเล่นบทประสานให้มากขึ้น โดยให้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์  ,นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ,นายเดชรัต สุขกำเนิด หรือน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล เข้ามาเป็นผู้ประสาน แทนการออกมาแสดงท่าทีอย่างแข็งกร้าว ตามสไตล์ของรังสิมันต์ โรม หรือวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

อ.ธนพรกล่าวถึงความสำคัญในการประสานกับส.ว. ว่าจะเป็นการวัดศักยภาพของพรรคก้าวไกล ว่าสามารถทำงานใหญ่ตามพิมพ์เขียวของพรรคได้หรือไม่ เพราะในหลายเรื่องที่จะดำเนินการ ไม่สามารถใช้เพียงเสียงของรัฐบาลได้ แต่ต้องใช้ความร่วมมือ ร่วมใจจากคนในหลายๆฝ่ายด้วย 

ดังนั้นการนำพิมพ์เขียวของพรรคไปอธิบายให้ ส.ว.ขั้วพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับรู้ และเข้าใจถึงแนวทางการทำงาน และความต้องการให้ส.ว. เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานอย่างไร ถือเป็นบททดสอบที่1 ในการประสานความร่วมมือ ซึ่งเป็นท่าทีที่จำเป็นของผู้ที่จะเป็นรัฐบาล 

ซึ่งหากสามารถผ่านด่านการขอความร่วมมือจาก ส.ว.สายพล.อ.ประยุทธ์ได้ ก็จะสามารถขอความร่วมมือจาก ผบ.ทบ. ,ปลัดกระทรวงมหาดไทย ,ศาลยุติธรรม และอธิบดีกรมต่างๆที่ดูแลด้านกฎหมายอยู่ได้ ตามนโยบายปฏิรูปด้านต่างๆของพรรคก้าวไกล หากทำได้ 66เสียงที่ต้องการ จะไม่ใช่อุปสรรคใหญ่

"อุปสรรคที่ใหญ่กว่า 66 เสียง นั่นก็คือพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคการเมืองที่ไม่อยากให้พรรคก้าวไกลได้ดิบได้ดี จนนาทีนี้ก็คือพรรคเพื่อไทย หากพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับการสนับสนุนจากส.ว. มีเสียงไม่ครบ 376 เสียง พรรคเพื่อไทยก็จะได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลแทน" อ.ธนพรกล่าว

ในระหว่างนี้พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีสนับสนุนการตั้งรัฐบาลก้าวไกลก่อน จนกว่าพรรคก้าวไกลจะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่คาดว่าระหว่างนี้ พรรคเพื่อไทย ได้เริ่มประสานงานกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยบ้างแล้ว โดยสามารถเรียกประชุมสภาได้ใหม่ใน 1สัปดาห์ เพื่อโหวตเลือกนายกฯกันใหม่ โดยเสนอคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร

อ.ธนพรกล่าวว่า วันโหวตประธานสภาจะปรากฏชัดว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร หากนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ไม่ได้เป็นประธานสภา นั่นหมายความว่าคุณพิธาก็ไม่สามารถเป็นนายกฯได้ ทั้งนี้การโหวตประธานสภานั้น มักมีการตกลงกันไว้ก่อน ซึ่งตามมารยาทนั้นผู้ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลควรจะได้เก้าอี้ประธานสภา 

พร้อมแนะให้จับตาวันโหวตจริง อาจมีเหตุการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนพ.ชลน่าน ศรีแก้วให้เป็นประธานสภา หากเสียงในสภาโหวตให้กับนพ.ชลน่าน ก็จะเป็นสัญญานว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่เอาด้วยกับสูตรตั้งรัฐบาลแบบพรรคก้าวไกล 

หลังจากนั้นเมื่อรัฐบาลก้าวไกล ไม่สามารถตั้งนายพิธาเป็นนายกฯได้ ก็จะเป็นคิวของพรรคเพื่อไทยจะขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล วึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเปลี่ยนเกมส์หรือหลบเลี่ยง MOU ได้ตลอดเวลา

ทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์ อ.ธนพร ได้ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองว่า ในการเลือกตั้งปี 2549 ที่มีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง พร้อมระบุว่า ในปี 2566 นี้ ไม่แน่อาจได้เห็นการช็อปปิงส.ว.เกิดขึ้นบ้างก็ได้