ด่วน 4 บอร์ดเสียงข้างมาก กสทช. คัดค้าน "สรณ" ประชุมแบบเปิดเผย

03 ต.ค. 2566 | 13:00 น.

ด่วน 4 บอร์ดเสียงข้างมาก กสทช. ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง "ประธาน กสทช." คัดค้านประชุมแบบเปิดเผย ในวันพรุ่งนี้ ร่ายยาว 5 ข้อ แนะใช้ห้องประชุมสายลม 1121  ชั้น 12 อาคารอํานวยการ ตามปกติเหมือนเดิม

จากกรณีที่ในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดให้มีระเบียบวาระการประชุม เวลา 09.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมสายลม 1021 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช. โดย นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (บอร์ด กสทช.) ได้ทำหนังสือถึง กรรมการ กสทช. ทั้งหมดเพื่อจัดประชุมแบบเปิดเผย ตามที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้

4 บอร์ดกสทช.ทำบันทึกข้อความด่วนที่สุดคัดค้านแบบเปิดเผย

ล่าสุด 4 คณะกรรมการ กสทช. ประกอบด้วย รศ.ดร.ศุภชัย  ศุภชลาศัย , รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์,ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจิรญ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 3 ตุลาคม2566 เรื่อง คัดค้านการกำหนดให้การประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 เป็นการประชุมเปิดเผย พร้อมอ้างเหตุผล 5  ข้อดังนี้

1.คณะกรรมการเป็นองค์กรกลุ่มที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยวิธีการประชุม โดยต้องมีการปรึกษาหารือและถกเถียงให้ความคิดเห็นเพื่อให้ได้มาซึ่งมติที่ประชุม กรรมการจึงต้องมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่และไม่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดที่อาจเกิดจากการแสดงความคิดเห็นที่บางครั้ง กระทบกระเทือนถึงสิทธิบุคคลอื่น ดังนั้น โดยปกติทั่วไป ประชุมในรูปของคณะกรรมการจึงเป็นการประชุม แบบจํากัดจํานวนผู้เข้าฟัง ซึ่งการประชุม กสทช. ที่ผ่านมาก็เป็นการประชุมแบบจํากัด

2. สําหรับการประชุมแบบเปิดเผยเป็นการประชุมในลักษณะของการรับฟังความคิดเห็นใน ประเด็นสาธารณะที่ต้องการเปิดกว้าง หัวข้อที่ประชุมมีลักษณะเป็นประเด็นที่ต้องการระดมความคิดเห็นจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อนําไปจัดทํานโยบายและตัดสินใจในภายหลัง จึงมีการเชิญบุคคลภายนอกที่ เกี่ยวข้องมาแสดงความคิดเห็น เช่น ประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม หรือสิทธิคนพิการ เป็นต้น การประชุมแบบเปิดเผยจึงมิใช้บังคับกับวาระที่ต้องมีการพิจารณาวินิจฉัยหรือใช้อํานาจทางปกครอง แต่ประการใด ดังจะเห็นได้จาก รูปแบบวิธีการของการประชุมมีลักษณะเป็นการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น  ดังนั้น แม้ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 7 จะให้อํานาจ ประธาน กสทช. ในการกําหนดรูปแบบการประชุม แต่ ประธาน กสทช. ก็ต้องใช้อํานาจและดุลพินิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย มิใช่ตีความแค่ตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ต้องตีความตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย โดยต้องพิจารณาว่ารูปแบบและวิธีการของ การประชุมควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประชุมและลักษณะของแต่ละวาระด้วย

ประชุมบอร์ด กสทช.

 

3. การที่ประธาน กสทช. กําหนดให้การประชุมครั้งที่ 20/2566  ในวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2566  เป็นการประชุมแบบเปิดเผยเป็นการใช้อํานาจเกินขอบเขตที่ กสทช. มีอยู่ เนื่องจาก กสทช. มีสิทธินํา ข้อมูลของผู้ประกอบการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในวาระการประชุม มาใช้ในการพิจารณาของ กสทช. เท่านั้น อีกทั้งการใช้และเปิดเผยข้อมูลข้างต้น มีข้อจํากัดและเงื่อนไขตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 24 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 19 มาตรา 21 และมาตรา 27  และพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2555 มาตรา 6การใช้อํานาจ และการดําเนินการใด ๆ ตามระเบียบ กสทช. ข้างต้น จึงพึงระมัดระวังมิให้เกิดการละเมิดกฎหมาย และต้องดําเนินการป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงในการนําข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างไม่เป็น ธรรม หรือเกิดการละเมิดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ซึ่งสํานักงาน กสทช. โดยคําสั่งประธาน กสทช. มี

หนังสือเชิญผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่มีอํานาจหน้าที่พิจารณาตามกฎหมาย และผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการ ปฏิบัติงานของสํานักงาน กสทช. เข้าร่วมประชุมด้วย ดังนั้น หากในระเบียบวาระใดมีรายละเอียดข้อมูลส่วน บุคคล ความลับทางการค้า หรือข้อมูลที่มีความสําคัญ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมหรือไม่ประสงค์ให้มี การเปิดเผย เช่น ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ และข้อมูลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฯลฯ การจัดประชุม กสทช. ที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จึงไม่สามารถกระทําได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย และอาจทําให้ ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งประธาน กสทช. และสํานักงาน กสทช. อาจต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองต่อไป

4. ตามข้อ 12 ของข้อบังคับการประชุมฯ กําหนดให้การนัดประชุมต้องทําเป็นหนังสือ ซึ่งสํานักงาน กสทช. ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนมาก ที่ สทช 2001.1/2415  ลงวันที่ 27กันยายน 2566 เรียน กสทช. ทุกท่านเพื่อเชิญประชุมแล้ว โดยมิได้ระบุว่าเป็นการประชุมแบบเปิดเผยหรือจํากัดจํานวนผู้เข้า ฟัง ที่ผ่านมาก็ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดว่ากรณีนี้คือการประชุมแบบจํากัดจํานวนผู้เข้าฟัง ดังนั้น การที่ ปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าประธาน กสทช. กําหนดให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผย เป็นการไม่ให้เกียรติ กรรมการท่านอื่นที่เพิ่งรับทราบภายหลังว่าการประชุมครั้งที่ 20/2566 ประธาน กสทช. ได้กําหนดเป็นการประชุมแบบเปิดเผย

นอกจากนี้ ยังไม่เป็นไปตามข้อ 25 วรรคสามของข้อบังคับการประชุมฯ ที่กําหนดให้บุคคล ที่เข้าร่วมประชุมได้ ให้เป็นไปตามที่ประธาน กสทช. สั่งการ หรือประธานในที่ประชุมอนุญาต หรือตามมติ ของคณะกรรมการ

5. ดังนั้น กรรมการทั้ง 4 คน  จึงขอคัดค้านการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/ 2566 เป็น การประชุมแบบเปิดเผย ตามเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งนี้ หากกําหนดให้เป็นการประชุมแบบจํากัดจํานวน ผู้เข้าฟัง ก็สามารถที่จะประชุมในห้องประชุมสายลม 1121  ชั้น 12 อาคารอํานวยการ ตามที่เคยปฏิบัติกันมาโดยตลอด.