เร่งเครื่องแผน AI ชาติ ไล่บี้มาเลย์ขึ้นที่ 2 ภูมิภาค

13 พ.ค. 2566 | 02:36 น.

เร่งเดินหน้าแผนพัฒนา AI แห่งชาติ หวังไล่บี้มาเลย์ ขยับอันดับดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ขึ้นที่ 2 ในภูมิภาค เผยแค่ครึ่งปีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ พร้อมวาง Action Plan ยกระดับกำลังคนด้าน AI ตั้งแต่บุคลากรทักษะขั้นต้น-ขั้นสูง

 ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ในฐานะเลขาคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายหลังจากไทยประกาศแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565- 2570) เมื่อเดือนธันวาคม 2465 ที่ผ่านมา

เร่งเครื่องแผน AI ชาติ ไล่บี้มาเลย์ขึ้นที่ 2 ภูมิภาค

ส่งผลให้ดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลทั่วโลกของไทย ขยับจากอันดับ 60 มาอยู่ที่อันดับที่ 31 ของโลก เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้เบื้องต้นคือ ขยับอันดับแซงหน้ามาเลเซียขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค

 

โดยครึ่งปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผน AI ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมหลายด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติสำหรับการพัฒนา AI ทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ โดยส่วนฮาร์ดแวร์ ประเทศไทยมีเครื่อง Supercomputer ที่ใหญ่ที่สุด อันดับ 1 ในระดับอาเซียน ที่มีชื่อว่า “LANTA” ด้วยประสิทธิภาพการคำนวณขนาด 7.7 Petaflops เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทั่วประเทศ โดยศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) สวทช.

เร่งเครื่องแผน AI ชาติ ไล่บี้มาเลย์ขึ้นที่ 2 ภูมิภาค

ด้านซอฟต์แวร์ นั้น ได้พัฒนา Nation AI Service Platform @GDCC โดยเนคเทค และ GDCC กำลังดำเนินการร่วมกันในการทดสอบ และขึ้นระบบแพลตฟอร์มกลางภาครัฐให้บริการ AI ระดับประเทศ เป็น Public Service โดยเป้าหมายหลักเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาเรียกใช้ AI Service ต่างๆ และภาครัฐเมื่อมี AI Service ก็สามารถนำมาวางไว้ที่แพลตฟอร์มกลางเพื่อให้บริการประชาชน ในส่วนภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมทดสอบใช้งานได้

ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผน AI ในการพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้เพียงพอและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ (AI Workforce Development) ผลสำรวจความต้องการและผลิตบุคลากรเพื่อส่งเสริมระบบเศรฐกิจ AI จาก สอวช. ตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่า มีความต้องการกำลังคนทางด้าน Software & Data Analytic จำนวน 38,465 คน ในขณะที่ปัจจุบันผลิตได้ 15,671 คน ด้าน Intelligent System & Automation มีความต้องการ 9,602 แต่ผลิตได้เพียง 970 คน

จึงได้กำหนดแผน (Action Plan) และเป้าหมายการดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้าน AI ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นสูง (AI Profession) ไม่น้อยกว่า 300 คนต่อปี ได้แก่ กลุ่มวิชาชีพ นักวิจัย และนักพัฒนาเทคโนโลยี AI พัฒนาด้วยหลักสูตรปริญญาตรี-โท-เอก (สาขา AI) ในมหาวิทยาลัย โดยมีหน่วยงานรับรองหลักสูตร อาทิ สกอ., กพ. ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้สูงมาก เนื่องจากขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยกำลังเปิดหลักสูตรทางด้าน AI 2. กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นกลาง (AI Engineer) ไม่น้อยกว่า 1,200 คนต่อปี ได้แก่ กลุ่มนวัตกร และวิศวกรด้าน AI ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้น AI ขั้นกลาง-ขั้นสูง อย่างเข้มข้น โดยภาครัฐ/เอกชน/ มหาวิทยาลัย และ 3. กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นต้น (AI Beginner) ไม่น้อยกว่า 12,000 คนต่อปี คือ กลุ่มอาชีพการทำงานอื่นๆ ที่สามารถใช้งานบริการปัญญาประดิษฐ์ขั้นต้นในอาชีพของตนเองได้ ผ่านการจัดอบรม AI ขั้นต้น - ขั้นกลาง โดยภาครัฐ/ เอกชน/ มหาวิทยาลัย

ซึ่งลำดับต่อไป คือ การนำเสนอแผนงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการขับเคลื่อน AI แห่งชาติ (รัฐบาลชุดใหม่) เพื่อพิจารณางบประมาณในการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อพัฒนาความรู้ ผลิตกำลังคนด้าน AI ได้แก่ ภารกิจที่ 1 : สร้างความตระหนัก สร้างเครือข่ายกระจายความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานด้าน AI (AI Literacy) , ภารกิจที่ 2 : กำหนดกรอบ รับรองหลักสูตรด้าน AI ระดับขั้นต้น และระดับขั้นกลาง ,ภารกิจที่ 3 : สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร AI ระยะสั้น ขยายการผลิตบัณฑิตด้าน AI และด้านที่เกี่ยวข้อง และภารกิจที่ 4:จัดมาตรการส่งเสริม เช่น ทุนการศึกษาสำหรับระดับขั้นกลาง-ขั้นสูง สิทธิประโยชน์ให้ผู้เข้าอบรม และเอกชนที่ร่วมส่งเสริมและภารกิจอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ยุทธศาสตร์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นำ AI ไปใช้สนับสนุนตอบโจทย์การพัฒนา ให้เกิด 100 นวัตกรรม AI สร้างผลกระทบ ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาทนั้น และยุทธศาสตร์ที่ 5 คือการส่งเสริมการใช้งาน AI ในภาครัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนากลไกในการพัฒนาธุรกิจ และ AI Startup ให้ 600 หน่วยงานได้ใช้นวัตกรรม AI โดยขณะนี้ได้เลือก 3 อุตสาหกรรม เพื่อนำ AI เข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้ AI ในวงกว้าง ประกอบด้วยด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี ในการพัฒนาฐานข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์ ทั้งเอ็กซ์เรย์ เมมโมแกรม อัลตร้าซาวนด์ และเปิดให้โรงพยาบาลที่กำหนดสามารถนำไปใช้งานได้ ส่วนด้านบริการภาครัฐ มีแผนนำ AI มาใช้แก้ปัญหาความยากจน โดยอาศัยข้อมูลจาก “TPMAP” (ทีพีแมป) ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ของ สวทช. มาสร้างโมเดลชี้เป้าคนจน เพื่อให้ภาครัฐ ใช้ในการวางแผนการให้เงินอุดหนุนต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ส่วนด้านเกษตร และอาหาร นั้นจะนำ AI มาใช้มาในการวิเคราะห์การเพาะปลูก ในพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิด