กสทช. ได้สิทธิ์บริหารวงโคจรดาวเทียม

06 ก.พ. 2562 | 08:51 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เปิด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้อำนาจ กสทช. บริหารวงโคจรดาวเทียม และอนุญาตให้มีการใช้คลื่นความถี่ในหลายกิจการ รองรับการหลอมรวมเทคโนโลยีในอนาคต

VK8A1304

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรียบร้อย โดยผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะสามารถใช้ได้จริง

สำหรับสาระสำคัญใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสำคัญ รวมทั้งมีการแก้ไขในส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนด้วย โดยในส่วนการแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ นั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานด้านดาวเทียมทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำหน้าที่แทนรัฐในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการ โดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ เป็นการเปิดกว้างให้มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์ดาวเทียมที่หลากหลาย ลดการผูกขาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกัน กฎหมายยังมีการกำหนดสัดส่วนการให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งต้องจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ ภาคประชาชน รวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังมีการแก้ไขการถอดถอน กสทช. จากเดิมผ่านการลงมติของวุฒิสภา เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอเรื่องต่อศาลฎีกา หรือ ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย ส่วนเนื้อหาที่มีการแก้ไขในส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฯ นั้น มีเรื่องการจัดเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้กรณีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ และหากมีการโทรศัพท์ก่อกวนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม ซึ่งต่อไป คลื่นความถี่จะสามารถนำมาใช้ข้ามอุตสาหกรรมได้ ไม่จำเป็นเฉพาะเจาะจงว่าเป็นคลื่นที่ประมูลมาเพื่อใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากคลื่นความถี่นั้นถูกกำหนดในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ให้สามารถใช้งานได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มแรกยังไม่มีผลใช้บังคับ จนกว่า กสทช. จะเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีผลใช้บังคับใช้ต่อไป

595959859