แคทเร่งคลอด‘ดิจิทัลพาร์ค’

12 พ.ย. 2560 | 09:49 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“แคท” ในฐานะผู้บริหารพื้นที่จ้าง “ซาวิลส์ ประเทศไทย” ทำมาสเตอร์แพลน ให้ส่งแผนก่อนสิ้นปี ขณะที่ ครม.อนุมัติงบ 3,764 ล้านบาท ให้ “ดีป้า” พัฒนา เมืองอัจฉริยะ “สมาร์ท อีอีซี” ด้าน ก.ดีอี วางแผนดึงกลุ่มทุนจีน-ญี่ปุ่นลงทุนตั้งสถาบัน IOT

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ แคท ได้ว่าจ้าง บริษัท ซาวิลส์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อจัดทำมาสเตอร์แพลนในโครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ บนพื้นที่จำนวน 709 ไร่ เนื่องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ รัฐบาลต้องการจัดทำแผนแม่บทบนแต่ละพื้นที่ให้เกิดความชัดเจน ซึ่งหนึ่งในมาสเตอร์แพลนนั้นมีแผนจัดตั้งบริษัท ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ จำกัด อีกด้วย

[caption id="attachment_228722" align="aligncenter" width="336"] พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท[/caption]

เหตุผลการจัดทำมาสเตอร์แพลนครั้งนี้เนื่องจากว่าโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย ซึ่งบริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญด้านบริหารพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องการแยกโครงสร้างธุรกิจให้ชัดเจน ในเบื้องต้นได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพร้อมทีมงานแล้วจำนวน 10 คน

อย่างไรก็ตาม ครม. ได้อนุมัติให้กระทรวงดีอี จัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล (Digital Park Thailand) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลใน 2 นโยบายหลัก ได้แก่ นโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลของไทยเอง และการประยุกต์ใช้ดิจิตอลในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

สำหรับพื้นที่ 709 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์โทรคมนาคมศรีราชา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่ง Digital Park Thailand จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิตอลของภูมิภาค (Global Digital Hub) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจดิจิตอลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิตอล บนพื้นฐานของการเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (International Exchange Gateway) และศูนย์ข้อมูลของประเทศ (Data Center Hub)

[caption id="attachment_183607" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ได้เห็นข้อเสนอของที่ปรึกษาในการจัดตั้งบริษัทแต่ต้องไปถามรายละเอียดทางกระทรวงดีอีโดยตรง
เมื่อเร็วๆ นี้ ครม.มีมติเห็นชอบ การจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กรอบวงเงินงบประมาณ 3,764 ล้านบาท ประกอบด้วย งบสำหรับเปลี่ยนผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) แผนงานแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ สมาร์ท อีอีซี แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แผนงานเสริมสร้างศักยภาพและการเตรียมความพร้อม และแผนงานส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ก่อนหน้านี้นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า มีแผนจัดตั้งสถาบัน IoT (Internet of Things) ทำในแบบกิจการร่วมค้า (Consortium) ขึ้นมา คาดว่าจะเริ่มสร้างอาคาร IoT ได้ในช่วงปี 2561 ได้เชิญชวนประเทศญี่ปุ่น และ จีน เข้ามาลงทุน และยังมีแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับนักลงทุนอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว