นับถอยหลัง “สงครามแย่งน้ำ” หลังภัยแล้งส่อเค้ารุนเเรง

11 ก.พ. 2567 | 17:10 น.

ภัยเเล้งในปีนี้ส่อเค้ารุนเเรง หลายฝ่ายกังวล “สงครามแย่งน้ำ” ปะทุ หลังชาวนาแห่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวเกินสูงกว่าแผน เหตุราคาข้าวจูงใจ หวั่นกระทบ“อุตสาหกรรม-ผลิตน้ำปะปา”

KEY

POINTS

  • ภัยเเล้งในปีนี้ส่อรุนเเรงและมาพร้อมกับความต้องการน้ำโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม 
  • หลายฝ่ายกังวลจะเกิด “สงครามแย่งน้ำ” หลังชาวนาแห่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวสูงกว่าแผน "อุตสาหกรรม-น้ำปะปา" เสี่ยงกระทบ
  • เเนะรัฐบาลอุดหนุนเเบบมีเงื่อนไข เช่น "ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง" เร่งปรับการเกษตรทันสมัย 

ช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงคาดว่าจะรุนแรง ไม่เพียงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวในขณะนี้โดยเฉพาะกับภาคการเกษตร และน้ำกิน น้ำใช้  

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งประเมินสถานการณ์การกักเก็บน้ำ แม้กรมชลประทานรายงานว่าสถานการณ์น้ำในปัจจุบันยังไม่เกิดภัยแล้ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมเพราะถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่เข้ามารุมเร้าเกษตรกรไทยเกือบทุกปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหน้าแล้งปีผ่านๆ มา มักจะได้ยินข่าวการทะเลาะเบาะแว้งกันของประชาชนในพื้นที่จากการแย่งชิงน้ำในช่วงหน้าแล้งอยู่เสมอ

"ความแห้งแล้งมาพร้อมกับความต้องการน้ำ" โดยเฉพาะในภาคการเกษตร แม้ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะโชคดีมีน้ำฝนเติมเข้าสู่อ่างกักเก็บน้ำทำให้ไม่กระทบกับการปลูกข้าวนาปรังแต่มาถึงวันนี้ ข้อมูลจาก รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ยืนยันว่าน้ำต้นทุนที่มีอยู่ไม่พียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะในภาคเกษตร สวนทางกับตัวเลขการเพาะปลูกพืชในลุ่มนํ้าเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 ตัวเลขการปลูกข้าวนาปรังอยู่ที่ 5.54 ล้านไร่ สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ 3.03 ล้านไร่ ถึง 2.51 ล้านไร่ อาจเป็นไปได้ว่าจะหยุดชาวนาปลูกข้าวไม่ได้

นับถอยหลัง “สงครามแย่งน้ำ” หลังภัยแล้งส่อเค้ารุนเเรง

ราคาข้าวตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 12,000-13,000 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 7,000-7,500 บาทต่อไร่เป็นแรงจูงใจให้ชาวนาในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้กว่า 2.5 ล้านไร่

"ถ้าอยู่ในเขตชลประทาน ชาวนาจะดึงน้ำเข้าไปในนาตัวอง ต้นน้ำและปลายน้ำจะขัดแย้งกัน การดึงน้ำไปมากจะทำให้นํ้าที่มีอยู่ไม่พอจะผลักดันนํ้าเค็ม เมื่อน้ำเค็มมากจะมีปัญหาเรื่องการผลิตน้ำปะปาในชุมชนตามลำน้ำ ลามถึงชุมชนเมือง รวมทั้งกระทบอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้น้ำในสายการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปทุมธานี และอยุธยา และไม่ใช่เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น เเต่ลำน้ำสายใหญ่ท้้งหลายด้วย เช่น เเม่น้ำท่าจีน เพราะถ้าดูระบบการทำเกษตรที่ติดลำน้ำจะเป็นการทำสวนพอเค็มมากพืชบางชนิดก็อยู่ไม่ได้"    

เมื่อพิจารณากรณีที่ประชุม ครม. (6 ก.พ. 67) รับทราบ 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 เตรียมรับมือในช่วงหน้าแล้ง
สามารถแบ่งกลุ่มมาตรการที่สำคัญ 3 กลุ่ม คือ การบริหารต้นทุนน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำเเละการบริจัดการน้ำในระบบทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพ แต่วันนี้คำเตือนของผู้บริโภค เช่น ให้ชาวบ้านลดปลูกข้าวยังไม่มากพอ ขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมาให้การอุดหนุนเกษตรกรโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นหลักใหญ่

"ถ้ามีการอุดหนุนโดยมีเงื่อนไข เช่น ให้ทำนาเปียกสลับเเห้ง จะทำให้รับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะพอราคาข้าวสูงชาวนาจะสามารถเชื่อมต่อโอกาส เเต่ตอนนี้ไม่ได้ทำ เป็นการตัดโอกาสที่จะได้ผลผลิตอย่างเต็มศักยภาพเเละชาวนาต้องเจอความเสี่ยงมากขึ้นด้วย" รศ.สมพร กล่าว

นับถอยหลัง “สงครามแย่งน้ำ” หลังภัยแล้งส่อเค้ารุนเเรง

นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยต้องปรับการเกษตรให้ทันสมัย ซึ่งมีส่วนประกอบคือ นวัตกรรมเทคโนโลยี การปรับตัวของเกษตรกร เเละเงินทุน โดยได้ยกเคสในประเทศอิสราเอล ที่ปัจจุบันสามารถพลิกทะเลทรายให้สามารถปลูกพืชได้ และกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีการเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลกรวมถึงยังมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคมากพอที่จะส่งออกอีกด้วย 

"การปฎิรูปภาคการเกษตรต้องทำ เเต่นวัตกรรมเทคโนโลยี การปรับตัวของเกษตรกร เเละเงินทุน ประเทศไทยยังไม่พร้อมสักอย่าง เทคโนโลยีก็ยังต่ำถ้าเทียบกับอิสราเอล เกษตรกรส่วนมากไม่ปรับตัวยังทำเกษตรแบบดั้งเดิม มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ปรับตัวได้ เช่น บางคนที่กลับมาจากอิสราเอลก็ใช้ความรู้ที่ได้มาทำสวนก็ได้ผลตอบเเทน  รัฐบาลต้องจริงจังเพราะในอนาคตจะมาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าซึ่งเป็นเครื่องมือลดโลกร้อน" รศ.สมพร ทิ้งท้าย