ในงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทยและการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” จัดโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 ไฮไลท์สำคัญส่วนหนึ่งมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารภายใต้ปรากฎการณ์ El Nino และโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย” มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกูรูด้านการเกษตรของไทยเข้าร่วมให้ทรรศนะที่น่าสนใจยิ่ง
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า มีความเป็นห่วงต่อภาวะเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งต่อภาคเกษตรและเกษตรกร ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.น้ำไม่มีจะเป็นปัญหาทางด้านการผลิตที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง เพราะคาดการณ์เอลนีโญจะเกิด 2-3 ปี ซึ่งเป็นปีเดียวก็แย่แล้ว
“ตอนนี้ผลที่เห็นชัด ๆ คือ เรื่องข้าว พอเขาประกาศว่าไม่ให้ทำข้าวนาปรัง รายได้ของชาวบ้านก็จะลดลง การผลิตอื่น ๆ เช่น อาหารสัตว์ ก็คงมีปัญหาเหมือนกันเพราะจะกระทบต่อวัตถุดิบคือข้าวโพด ดังนั้นในแง่ของการผลิตก็คงต้องเตรียมการกันว่าจะแก้อย่างไร”
ในระยะสั้น ส่วนใหญ่จะพูดกันถึงอุปทาน คือทำอย่างไรจะมีน้ำพอ แต่ไม่ค่อยคิดในแง่อุปสงค์คือความต้องการน้ำจะลดลงได้หรือไม่ โดยนักอุตุนิยมวิทยาด้านชลประทานระบุว่า หากไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวที่ไม่ใช้น้ำมาก หรือสามารถประหยัดน้ำในภาคอื่นๆ ได้ซัก 10% เราคงยังไม่ต้องไปทำอะไรได้อีกหลายปี ดังนั้นระยะสั้นคงต้องดูว่าจะลดการใช้น้ำได้อย่างไร ส่วนระยะยาวคงต้องหาวิธีการอื่น ๆ ในการรักษาน้ำผิวดินไว้ และนำน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกันได้
เรื่องที่ 2 ระดับราคาสินค้าเกษตรคงสูงขึ้น จะส่งผลดีกับเกษตรกร แต่คนที่ไม่ค่อยมีเงินจะลำบาก ขณะที่ภาคปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะครั้งนี้ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องเอลนีโญอย่างเดียว ยังมีเรื่องสงคราม เรื่องโควิด และอื่น ๆ ทำให้ราคาปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ปุ๋ยเคมีแพงขึ้นมา แม้เวลานี้จะปรับลดลงบ้างก็ตาม และเรื่องที่ 3 ในระยะยาวจะมีผลกับสิ่งแวดล้อม เช่นเรื่องฟอกขาวของปะการัง ทำให้ไฟไหม้ป่ามากยิ่งขึ้น คนต้องสูดฝุ่น PM2.5 เข้าไปมากขึ้น และอาจเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้าน อาจลุกลามเป็นปัญหาทางการเมืองได้
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ประเทศไทยวันนี้ถูกกระทบจากเอลนีโญแล้ว ปริมาณน้ำลดลงเพาะปลูกได้ลดลง แต่บางพื้นที่ยังสามารถปรับได้เช่น ในการปลูกข้าวจะใช้น้ำจำนวนมาก วิธีแก้ปัญหา คือหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ทั้งนี้ 1 ในพืชที่ใช้น้ำน้อยในการปลูกคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของการปลูกข้าวนาปรัง
ที่ผ่านมาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทย ไม่พอใช้สำหรับภาคปศุสัตว์ ที่ใช้ประมาณ 8 ล้านตันต่อปี ผลิตได้ในประเทศเพียง 5 ล้านตัน ขาดอีก 3 ล้านตันต้องนำเข้า หลายปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามปลูกข้าวโพดหลังนา แต่ทำได้ไม่กี่แสนตัน ตรงนี้คงต้องใช้พลังมากกว่านี้ และต้องช่วยสื่อสารกับเกษตร เพราะตลาดมีอยู่แล้ว และที่สำคัญข้าวโพดราคาดีมาก ๆ ต้นทุนการผลิตประมาณ 8 บาท แต่ราคาตลาดมากกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งทางสมาคมฯตั้งเป้าจะเข้าไปคุยกับ ธ.ก.ส.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนเริ่มทำข้าวโพดหลังนาในฤดูกาลนี้ให้ได้มากกว่า 3 ล้านไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิต 2-3 ล้านตัน ช่วยลดการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
“สรุปในภาคปศุสัตว์จะได้รับกระทบอย่างมากจากปรากฏการณ์เอลนีโญในเรื่องของราคาแน่นอนเพราะอุปทานมีน้อยกว่าอุปสงค์ ขณะที่วัตถุดิบปศุสัตว์นอกจากประเด็นด้านภูมิอากาศหรือใกล้เคียงแล้ว ยังมี 2 ประเด็นที่ส่งผลกระทบคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ”
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต และวางแผนกลยุทธ์ด้านกลยุทธ์ให้กับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของกลยุทธ์ แต่เริ่มมีผลกระทบกับบริษัทเอกชนแล้วหลายบริษัท วันนี้ คาร์บอนเครดิต จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดและเป็นที่ต้องการ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของภาคเอกชนมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด
“การลดก๊าซเรือนกระจกของไทยวันนี้อยู่ในภาคสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ แต่ถ้าเราไม่มีการปรับ ก็จะได้รับความกดดันจากต่างประเทศเพราะวันนี้คู่ค้าถามหาฟุตพริ้นท์คุณมีเท่าไหร่ มีแผนการลดอย่างไร และขอดูดัชนีชี้วัด (KPI) ว่าเป็นอย่างไรบ้าง”
นอกจากนี้หากภาคเอกชนไม่มีการเตรียมเรื่องฟุตพริ้นท์ ไม่มีแผนลดก๊าซเรือนกระจกอาจมีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพราะเรื่องฟุตพริ้นท์ จะถูกนำเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีประกาศเรื่องของ Green Tax economy ออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายถึงบริษัทใดไม่มีการปรับตัวภายในปี 2040 ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร (กรีนไฟแนนซิ่ง)ก็จะลดลงเรื่อย ๆ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีการตั้งกองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า “กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร” เพื่อเป็นการส่งเสริมและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร ได้มีการทำเอ็มโอยูร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านตลาดคาร์บอนเครดิต และพัฒนานักวิชาการเกษตรให้มีศักยภาพในการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตได้ ล่าสุดได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนแล้ว 20 คน เพื่อสามารถตรวจรับรอง คาร์บอนเครดิตได้ต่อไป
นอกจากนี้ทางกรมฯยังได้จัดทำคู่มือภาคประชาชนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรเบื้องต้น และเป็นคู่มือการประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่เกษตรกร ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ และคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อช่วยให้ส่งเสริมเกษตรกรสามารถ หารายได้จากคาร์บอนเครดิตอย่างจริงจังได้ในอนาคต