หอการค้าไทย-จีนสร้างโอกาสธุรกิจเพิ่มความสามารถแข่งขันตลาดโลก

02 มิ.ย. 2566 | 15:59 น.
อัพเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2566 | 16:00 น.

หอการค้าไทย-จีนสร้างโอกาสธุรกิจเพิ่มความสามารถแข่งขันตลาดโลก ผนึก CCPIT บีโอไอ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีนประจำประเทศไทย มุ่งต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การรักษาสิ่งแวดล้อม การแพทย์

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน ได้ดำเนินการร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลซานตง (CCPIT) ,คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีนประจำประเทศไทย 

ทั้งนี้ เพื่อประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน (ซานตง)-ไทย  หรือ China (Shandong)-Thailand Business Co-operation and Matchmaking Conference 

สำหรับความร่วมมือไทยและซานตงจะเป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจที่ไร้ขีดจำกัดทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิต สินค้าเกษตร การท่องเที่ยว พลังงานใหม่ และยางล้อ  รวมถึงเป็นการขยายโอกาสสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ซานตง ที่เป็นช่องทางขยายตลาดระหว่างประเทศ 

ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จด้านเทคโนโลยี การลงทุน และการพัฒนานวัตกรรมของจีนมาสู่ประเทศไทย เป็นการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมของไทย เกือบ 400 บริษัทจากซานตงและไทยได้ร่วมกันเจรจาแบบทวีภาคี “1 ต่อ 1” 

นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดที่จัดขึ้นในประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นเวทีทางการค้าครั้งสำคัญ 

“มิตรภาพระหว่างไทย-จีนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( RCEP) เป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ของโลก มีสมาชิก 15 ประเทศ เพื่อวางแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนในทุกขนาด สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวตกรรมในอุตสาหกรรม 4.0 และการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย ให้เชื่อมโยงกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน"

หอการค้าไทย-จีนรุกสร้างโอกาสธุรกิจเพิ่มความสามารถแข่งขันเวทีโลก

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า ในการประชุมมีบริษัทจีนและไทยกว่า 400 บริษัทจากสาขาอาหารเกษตร ยางรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องกลและไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้างเข้าร่วมประชุมเจรจา มีการเจรจาในที่จัดงานกว่า 300 คู่ อีกทั้งมีการลงนามความร่วมมือมากกว่า 10 ฉบับทั้งของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานส่งเสริมการค้า และวิสาหกิจ 

ส่วนคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจและการค้าของซานตงในครั้งนี้ประกอบด้วยวิสาหกิจในมณฑลซานตงเกือบ 100 บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจระดับหัวกะทิและขนาดใหญ่ โดยมี 22 บริษัทในกลุ่มจัดซื้อผลิตภัณฑ์และความร่วมมือด้านการลงทุนที่มีความตั้งใจชัดเจนที่จะจัดซื้อหรือประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะร่วมลงทุน มีบริษัทที่มีศักยภาพสูงในการเปิดตลาดและมีเทคโนโลยีขั้นสูง 

โดยแบ่งตามประเภทได้ 8 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มอุปกรณ์เครื่องกลและไฟฟ้าและอุปกรณ์เสริม 
  • กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (คอมโพสิต) 
  • กลุ่มยางล้อและชิ้นส่วนรถยนต์ 
  • กลุ่มสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องจักรแปรรูป 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ 
  • กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ 
  • กลุ่มเคมีภัณฑ์และอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าต่างๆ เช่น Weichai Group, Inspur Group, Linglong Tyre, Lishen Power เป็นต้น 

ทั้งหมดล้วนมีบทบาทในการเป็นต้นแบบ ตัวชี้นำ และมีอิทธิพลต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างซานตงกับอาเซียน

นายหลิน หยวน รองประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลซานตง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเศรษฐกิจและการค้า “ASEAN Exploration Tour for Shandong Enterprises” กล่าวว่า  กิจกรรมครั้งดังกล่าวนี้เป็นการนำฉันทามติสำคัญที่ผู้นำของทั้งสองประเทศบรรลุร่วมกันมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม มีเพื่อให้ซานตงได้สร้างคุณูปการต่อการเร่งสร้างชุมชนแห่งโชคชะตาร่วมและการสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูง โดยอาศัยการเพิ่มความร่วมมือเชิงลึกด้านเศรษฐกิจและการค้าในท้องถิ่น และส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างวิสาหกิจ 

“อุตสาหกรรมของมณฑลซานตงและประเทศไทยมีความสอดคล้องกันอย่างมาก และมีศักยภาพอย่างมากสำหรับความร่วมมือระหว่างกัน เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะเสริมความแข็งแกร่งในการเชื่อมโยงระดับกลยุทธ์ของการพัฒนา ส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ เพิ่มการส่งเสริมการค้าสองทาง ร่วมกันส่งเสริมข้อตกลงการค้าเสรีอย่างมีคุณภาพสูง เพื่อสร้างหน้าใหม่ของความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (win-win)” 

นายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า มณฑลซานตงเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดอารยธรรมจีน และเป็นจุดตัดของเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของซานตงเป็นอันดับสามของประเทศ มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง 

ซานตงและไทยได้รักษาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายด้าน การค้าของซานตงกับไทยคิดเป็น 8% ของปริมาณการค้าทั้งหมดระหว่างจีนและไทย โดยทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพในการเติมเต็มระหว่างกันได้ดีในด้านอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร อุปกรณ์เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง และอื่น ๆ  ทำให้ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายมีอนาคตที่สดใส 

อย่างไรก็ดี หวังว่าวิสาหกิจของซานตงจะรักษาจิตวิญญาณของการสร้างนวัตกรรม ตอบสนองความต้องการด้านความเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ สำรวจความร่วมมือด้านใหม่ๆเพิ่มเติม เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การรักษาสิ่งแวดล้อม การแพทย์ ฯลฯ บนพื้นฐานของการรักษาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในสาขาดั้งเดิม เพื่อสร้างคุณูปการต่อการพัฒนาด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมระดับไฮเอนด์ ระบบอัจฉริยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศ และเพิ่มพลังใหม่ให้กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับไทย