เสียงจากบอสใหญ่ต่างชาติ เอกชนไทยตัวแปรสำคัญอาเซียนสู่ Net Zero

21 เม.ย. 2566 | 09:14 น.

ภาคเอกชนไทยมีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายร่วมของเราในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero) และการเติบโตเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth)

บทความโดย : Benjamin Fingerle กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วน บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป และ Paul Marriott  ผู้จัดการใหญ่ เอสเอพี เอเชีย แปซิฟิก ญี่ปุ่น

สมรภูมิการต่อสู้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) จะได้รับชัยชนะหรือพ่ายแพ้นั้น ขึ้นอยู่กับภูมิภาคเอเชียที่เป็นเครื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของโลก โดยประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจผ่าน “การเติบโตสีเขียว” (Green Growth) ที่เน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

เอเชียคือถิ่นที่อยู่ของประชากรกว่าครึ่งโลกและบริโภคพลังงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา จากแรงทะเยอทะยานทางการขับเครื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับอัตราการปล่อยมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทสำคัญต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคพลังงานในภูมิภาค ตามข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ ปริมาณการบริโภคพลังงานขั้นต้นของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดในอาเซียน หรือเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย

ประเทศไทยยังเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับสี่ในภูมิภาค  ถึงแม้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเล็กน้อย แต่อัตรานี้ยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในโลกตะวันตก

เสียงจากบอสใหญ่ต่างชาติ เอกชนไทยตัวแปรสำคัญอาเซียนสู่ Net Zero

อุปสงค์ด้านพลังงานของไทยนั้นช่วยสะท้อนภาพผลกระทบของการขยายตัวที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยความต้องการใช้พลังงานของไทยเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 2.3  ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงพลังและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทย

บทบาทสำคัญของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลกสะท้อนถึงสมดุลทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้เกิดเครือข่ายของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกันในภูมิภาค ผลพวงที่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยได้ตกอยู่ในด่านหน้าของวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก โดยเป็นทั้งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่สุ่มเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบในการเติบโตของการปลดปล่อยมลพิษที่ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเหมาะสม

การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีสนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอยู่แล้ว หากดูจากข้อเท็จจริงและถ้อยคำที่ใช้ในรายงานการประเมินฉบับที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPPC)

ผลกระทบต่อประเทศไทยบนเส้นทางปัจจุบันนั้นมีความรุนแรงอย่างมาก งานวิจัยของเราพบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับรุนแรงที่ 3.2 องศาเซลเซียสจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 8 และร้อยละ 18 ตามลำดับของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และว่าจ้างงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด  ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้จะเกิดควบคู่กับผลกระทบทางสังคมและสาธารณสุขที่มีขอบเขตกว้างไกลและยาวนาน

บริษัทในประเทศไทยมีความรับผิดชอบในการเร่งความเร็วของการเปลี่ยนแปลง ทว่าพวกเขาเองก็จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากการลงมือปฏิบัติมาตรการทางสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนเช่นกัน   ในสมุดปกขาวของสภาเศรษฐกิจโลก (the World Economic Forum “Accelerating Climate Action in Asia: A Guide to Unlocking Business Opportunities” ที่จัดทำร่วมกับ Boston Consulting Group และ SAP ได้สำรวจเงื่อนไขสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ที่ภาคธุรกิจตลอดทั่วทั้งประเทศสามารถปลดล็อกโอกาสนี้ได้

เสียงจากบอสใหญ่ต่างชาติ เอกชนไทยตัวแปรสำคัญอาเซียนสู่ Net Zero

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า เอเชียสามารถปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจได้ร้อยละ 43 ของมูลค่ารวม 10.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 4.3 ล้านล้านเหรียญฯ ภายในปี 2030 จากการดำเนินกิจกรรม อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร ภาคการขนส่งและการเกษตร และการเพิ่มขนาดของเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการผลิต  เช่นเดียวกับการจ้างงาน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่ง (58%) ของอัตราการเติบโตที่จะมาจากโอกาสสีเขียวนี้รวมทั้งสิ้น 395 ล้านตำแหน่ง จะอยู่ในทวีปเอเชีย

 

  • ธุรกิจขนาดใหญ่มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการสนับสนุนโอกาสการเติบโตของไทย

บริษัทรายใหญ่ในไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของประเทศ รวมถึงการจัดการกับความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศซึ่งมีผลกระทบครอบคลุมกว้างขวาง  พวกเขาจำเป็นต้องลงมือทำกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน  พร้อมไปกับการหาวิธีลดผลกระทบจากวิกฤตของสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

เส้นทางที่จะเดินไปนั้นมีความชัดเจน ตามข้อมูลจากโครงการส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (The Science Based Targets initiative: SBTi) ระบุว่าจำนวนคำมั่นสัญญาในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero) ที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 16 ของขนาดเศรษฐกิจโลกในปี 2019 นั้นได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 ของGDP โลกในปัจจุบัน

สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังที่กำลังเกิดขึ้นในเจตคติของคนทั่วโลกต่อแนวทางการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  อย่างไรก็ตาม ณ เดือนเมษายน 2023 มีเพียง 17 บริษัทไทยที่ได้ให้คำมั่นในการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และได้รับการอนุมัติจาก SBiT เท่านั้น

เช่นเดียวกับความท้าทายที่ประเทศต่าง ๆ  ตลอดทั่วทั้งภูมิภาคกำลังเผชิญ  ไม่มีคำตอบเดียวที่เพียงพอสำหรับการจัดการกับปัญหาความท้าทายอันสลับซับซ้อนที่บริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน  องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องกำหนดขอบเขตความชัดเจน ปรับตัวและดำเนินกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบ โดยอิงจากแนวทางการปฏิบัติที่ดีและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิธีการลงมือปฏิบัติเพื่อจัดการกับความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศของภาคธุรกิจ

ด้วยการตระหนักถึงความท้าทายและความสลับซับซ้อนที่กล่าวข้างต้น รายงานสมุดปกขาวเล่มนี้นำเสนอกรอบการงานของภาคเอกชนที่ครอบคลุมแนวทางการปฏิบัติที่ดีในระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อช่วยขับเคลื่อนเส้นทางยุทธศาสตร์สำหรับองค์กรทุกขนาดและประเภทธุรกิจ  รายงานฉบับนี้ยังนำเสนอกรณีศึกษาของธุรกิจในเอเชียที่สามารถขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศจากภาคธุรกิจสำคัญต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ขนส่ง และการเกษตร เป็นต้น  

แนวทางต่าง ๆ ที่นำเสนอนั้นรวมถึงความจำเป็นในการลงมือปฏิบัติอย่างเร่งด่วนและความสำคัญของการให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศทั่วทั้งองค์กร พยายามสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมโดยการขับเคลื่อนองค์กรและสนับสนุนระบบนิเวศเพื่อเป็นตัวนำเสนอการเปลี่ยนแปลง  ปลดล็อกโอกาสในการการเติบโตทั้งในห่วงโซ่คุณค่าปัจจุบันและใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนให้บริษัททั้งมวลในไทยได้ใช้โอกาสมูลค่าหลายพันล้านเหรียญฯ จากการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้

รายงานฉบับนี้และประจักษ์พยานต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าการเพิกเฉยต่อการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่สุดของคนในเจเนอเรชั่นนี้ ซึ่งที่มีต่อองค์กร ชุมชนและประเทศ การเพิกเฉยขององค์กรต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศจะส่งผลลบต่อธุรกิจ ในขณะที่การลงมือปฏิบัติอย่างทันท่วงทีจะมอบโอกาสการเติบโตอย่างมหาศาล  ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำในภาคธุรกิจของไทยจะก้าวขึ้นมาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของพวกเขาเอง รวมทั้งเพื่อประเทศและภูมิภาค