BAFS อัด 600 ล้านลุยโซลาร์ฟาร์ม มุ่งสู่ Net Zero

01 เม.ย. 2566 | 02:00 น.

BAFS ลดเสี่ยงโลกผันผวน เดินหน้า สู่ Net Zero ลุยธุรกิจใหม่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 49.4 เมกะวัตต์ ปีนี้ทุ่มลงทุนอีก 600 ล้านบาท ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เติมนํ้ามันอากาศยาน เล็งเป้าบริการเติมนํ้ามันอากาศยานปีนี้กว่า 4,200 ล้านลิตร

ในปี 2565 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (บาฟส์) ได้ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแผนระยะกลาง 8 ปี (พ.ศ.2566-2573) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี พ.ศ.2573 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวในงานสัมมนา SET IN THE RABBIT HOLE หุ้นไทยปีกระต่าย 2023 หัวข้อ “หุ้นเด่น หุ้นดัง : รับมือความผันผวนโลก”จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท ได้วางกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไว้ 3 เรื่องสำคัญได้แก่ 1.การเติบโตอย่างยั่งยืน คือการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจใหม่ ๆ 2.การปรับเปลี่ยนองค์กรโดยนำเอาเทคโนโลยี และดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ลดขั้นตอนงานที่ซํ้าซ้อน และ 3.การพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS

ผ่านการดำเนินงาน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการบิน เพื่อให้บริการเติมนํ้ามันอากาศยานอย่างครบวงจร กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ในการเก็บรักษาและขนส่งนํ้ามันเชื้อเพลิงผ่านระบบท่อส่งนํ้ามันใต้ดิน และธุรกิจลงทุนหรือร่วมทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจ Non-Carbon และสุดท้ายกลุ่มบริการธุรกิจ ที่ให้บริการทรัพยากรบุคคลในธุรกิจให้บริการนํ้ามันเชื้อเพลิงให้แก่อากาศยานและธุรกิจอื่นๆ และการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2562 บริษัท ได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ และได้รับการรับรองให้เป็น Carbon Neutral Company จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.และมีเป้าหมายที่จะลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

BAFS อัด 600 ล้านลุยโซลาร์ฟาร์ม มุ่งสู่ Net Zero

สำหรับการให้บรรลุเป้าหมาย การดำเนินงานจะผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 % ภายในปี 2573 การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อาคารสำนักงาน และสถานีบริการจัดเก็บนํ้ามันอากาศยานดอนเมือง และยังสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีภายในองค์กร โดยได้ติดตั้งสถานีชาร์จอีวีในพื้นที่ของบริษัทด้วย

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายธุรกิจใหม่ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรจากสเปน เพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์เติมนํ้ามันอากาศยานไฟฟ้าหรือ BEV Hydrant dispenser เพื่อทดแทนนํ้ามันดีเซล ที่ประสบความสำเร็จจากการทดลองให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจำนวน 2 คัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโอกาสธุรกิจอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันมีออร์เดอร์เข้ามาแล้ว 2 คัน

อีกทั้ง บริษัท บาฟส์คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จํากัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100 % ได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม (Renewable energy) และ Recycling business โดยได้ซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ และญี่ปุ่นจํานวน 7 แห่ง รวมกำลังผลิต 49.4 เมกะวัตต์ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทแล้ว และยังมีแผนที่จะดําเนินการซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ เช่น เนปาล อินเดีย มองโกเลีย ซึ่งในปี 2566 นี้จะใช้เงินลงทุนอีกราว 600 ล้านบาทสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากงบลงทุนรวมของกลุ่มบริษัทที่ตั้งไว้ราว 1,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา Bio Jet Fuel กับบริษัท มิตรผลไบโอฟูเอล และบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ในการศึกษาเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการนํ้ามันอากาศยานอย่างยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและอุตสาหกรรมการบิน

สำหรับในปี 2566 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายให้บริการเติมนํ้ามันอากาศยานทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง รวมกันที่ 4,200 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 40% ผลจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่วัดจาก EBITDA margin เริ่มกลับเข้ามาใกล้ระดับที่เคยทำได้ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว

ทั้งนี้ จากการปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าว ทำให้กลุ่มธุรกิจมีโครงสร้างรายได้ที่สมดุล มีภูมิคุ้มกันกับปัจจัยที่อาจจะเข้ามากระทบได้ในอนาคตโดยตั้งเป้าภายในปี 2569 สัดส่วนรายได้ที่มาจากจากการขายและบริการจากธุรกิจการบินอยู่ที่ 50% รายได้จากธุรกิจผลิต และจําหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ 40 % และรายได้จากค่าบริการจากการให้บริการขนส่งนํ้ามันทางท่อ 10%