40 หอฯนานาชาติ ค้านค่าแรง 400 กังวลกระทบลงทุน ควักเพิ่ม ได้งานเท่าเดิม

18 พ.ค. 2567 | 05:49 น.

ค่าแรง 400 บาทต่อวันทั่วประเทศเดือด 40 หอการค้าต่างประเทศร่วมคัดค้าน ทำต้นทุนพุ่ง กังวลควักจ่ายเพิ่ม แต่ได้งานเท่าเดิม ไม่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดันเงินเฟ้อ บิ๊กหอการค้าไทยชี้มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนไทย ลดขีดแข่งขันประเทศ

เป็นประเด็นร้อนแรงและต้องติดตาม หลังรัฐบาลเศรษฐา ประกาศเดินหน้าเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคมนี้ ได้รับเสียงเฮลั่นจากกลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) ประกาศจะสนับสนุนให้ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

ทั้งนี้เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างในอัตรา 600 บาทต่อวันในปี 2570 พร้อมรับปากจะหารือกับสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านภาษี และการอัพสกิล รีสกิล ให้กลุ่มลูกจ้างโดยเร็วที่สุด

ในมุมลูกจ้าง การปรับขึ้นค่าจ้างจะช่วยเพิ่มรายได้ และช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะปัจจุบันรายได้ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่พอรายจ่าย จากปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นตามราคาสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.), หอการค้าและสภาอุตสาหกรรม 76 จังหวัด, สมาคมการค้า 95 สมาคม, สภาองค์กรนายจ้าง 16 แห่ง

เหตุผลหลัก ๆ ได้แก่ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้องแบกภาระเพิ่ม กระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ลดแรงจูงใจผู้ประกอบการลงทุนในต่างจังหวัด และจะนำสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการบางรายการ กระทบต่อเงินเฟ้อ และอื่น ๆ

นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3 ครั้งใน 1 ปีเป็นการปรับที่ไม่เหมาะสมตามดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และมีอัตราการใช้กำลังผลิตโดยรวมเฉลี่ยที่ 62%

โดยสรุปผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และขอให้ใช้กลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ ตามอัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน รัฐบาลไม่ควรเข้ามาแทรกแซงหรือชี้นำ

อย่างไรก็ดีในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีล่าสุด (14 พ.ค. 67) มีมติเห็นชอบพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอัตราที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัด โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงของคณะกรรมการไตรภาคีที่มาจากตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน มีโอกาสสูงที่ฝ่ายตัวแทนรัฐบาลที่ต้องสนองนโยบายรัฐบาล และฝ่ายตัวแทนลูกจ้างจะมีเสียงสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างที่เหนือกว่า แต่จะปรับขึ้นอัตราเท่าใดนั้นต้องติดตาม

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย(JFCCT) ที่ประกอบด้วย หอการค้านานาชาติในไทย(40 หอการค้า) มีภารกิจในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศไทยได้มีหนังสือถึงนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เหตุผลสำคัญคือจะส่งผลกระทบต่อต้นทุน และต่อการตัดสินใจของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบจุดเด่นและจุดด้อยกับประเทศคู่แข่งขัน

 “เวลานี้สมาคมการค้าที่คัดค้านการขึ้นค่าแรงเพิ่มเป็นเกือบ 100 สมาคมแล้ว ล่าสุดหอการค้าต่างประเทศในไทย 30-40 หอการค้า ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วย เพราะจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน หากต้องควักจ่ายเงินเพิ่มเติม แต่ประสิทธิภาพของแรงงาน และผลผลิตไม่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ เยอรมันที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไทย รวมถึงหอการค้าจากชาติอื่น ๆ ทั้งนี้หากการปรับขึ้นค่าแรงไม่เป็นไปตามกลไกของไตรภาคี แต่ปรับขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลหรือตามมติของคณะรัฐมนตรี ที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 87 ภาคเอกชนก็คงยากที่จะยอมรับได้”

สอดคล้องกับที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า นางวีเบคก้า ริสซอน ไรเวอร์ก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT)ได้ทำหนังสือถึงนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เนื้อหาสำคัญระบุว่า JFCCT มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันทั่วประเทศเป็น 400 บาทในเดือนตุลาคมนี้

JFCCT เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ถ้าไม่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการเพิ่มผลิตภาพตามแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้งานเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ประโยชน์อื่นใดมากนัก

ทั้งนี้การขาดทักษะในการทำงาน เป็นสาเหตุสำคัญของผลิตภาพที่ต่ำ รายงานธนาคารโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าด้วยเรื่องทักษะแรงงานในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการขาดทักษะพื้นฐานทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 20% รายงานของธนาคารโลกเดือนมกราคม 2563 ที่สำรวจสถานะเศรษฐกิจไทย ได้กล่าวถึงผลิตภาพและให้ข้อเสนอแนะบางประการซึ่งค่อนข้างรุนแรงโดยสรุป JFCCTมองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ