“คลื่นความร้อน” กำลังแผดเผาทั่วเอเชีย รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

20 เม.ย. 2566 | 23:00 น.

“คลื่นความร้อน” กำลังปกคลุมเเละแผดเผาทั่วเอเชีย รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะที่ไทยเสี่ยงสูงกว่าฤดูร้อนปกติเเละกระทบยาว

"ร้อนขนาดนี้จะละลายติดพื้นอยู่เเล้ว พระอาทิตย์จะรู้บ้างไหม" เชื่อว่าช่วงเวลานี้หลายคนก็คงจะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด เเละก็คงมีประโยคให้บ่นกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ข้อมูล พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน

ตั้งแต่วันที่ 20-21 เมษายน 2566 ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) หมายถึง อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น ว่าอากาศร้อนจนรู้สึกเหมือนอุณหภูมิสูงแค่ไหน พบว่าดัชนีความร้อนหลายพื้นที่อยู่ในระดับอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  ดัชนีความร้อนพุ่งสูงถึง 54.0 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย เสี่ยงฮีตสโตรก

ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนระอุแบบนี้ มีรายงานที่น่าสนใจจากสื่อต่างประเทศ ระบุว่า อุณหภูมิสูงสุดที่เรียกว่า "คลื่นความร้อน" ในเดือนเมษายนเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เอเชีย กำลังคุกคามในอินเดีย จีน ไทย และลาว  โดยเฉพาะที่อินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและต้องมีการปิดโรงเรียน เพราะอุณหภูมิที่พุ่งทะยานขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

ชาวอินเดียเสียชีวิตจากฮีตสโตรกถึง 13 คน หลังจากเข้าร่วมในงานประกาศรางวัลมหาราษฏระภูชาน (Maharashtra Bhushan) กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียคาดการณ์ว่า อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและคลื่นความร้อนจะคงอยู่จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ได้ปรับตัวขึ้นราว 0.7% ระหว่างปี 1901-2018 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกรวน

ขณะที่คลื่นความร้อนยังส่งผลทำให้อุณหภูมิที่สูงจนทำลายสถิติในจีน โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่าอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายนในหลายพื้นที่ รวมถึง เฉิงตู เจ้อเจียง หนานจิง หางโจว และพื้นที่อื่น ๆ ของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอุณหภูมิที่ร้อนผิดปกติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รวมถึงในหลวงพระบาง ประเทศลาว ทำสถิติไว้ที่ 42.7 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตามรายงานพบว่า เวียงจันทน์ยังบันทึก 41.4C ซึ่งเป็นวันที่ร้อนที่สุด

ในประเทศไทย สถานีตรวจวัดของรัฐบาลในจังหวัดตาก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศบันทึกอุณหภูมิได้ 45.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ถือเป็นการทำลายสถิติสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 44.6 องศาเซลเซียส ที่แม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

ในรายงานระบุว่า สภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติทำให้มีคำเตือนด้านสุขภาพในประเทศไทย โดยกรมอนามัยเตือนถึงความเสี่ยงต่อโรคฮีทสโตรก โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานหลายชั่วโมง มีความกังวลว่าอุณหภูมิในประเทศไทยจะสูงต่อเนื่องกว่าฤดูร้อนปกติ ทำให้เกิดภัยแล้งและพืชผลล้มเหลว

ขณะที่ในบังกลาเทศ อุณหภูมิในกรุงธากา เมืองหลวงพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส เมื่อวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ร้อนที่สุดในรอบ 58 ปี ทำให้ผิวถนนละลาย เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า หากความร้อนไม่ลดลง พวกเขาจะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านอุณหภูมิในบางพื้นที่

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเดียมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อสภาพอากาศร้อนจัด และผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าปีนี้อาจเลวร้ายยิ่งกว่านั้น คลื่นความร้อนในเดือนเมษายนได้พัดถล่มบางรัฐของอินเดีย โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกคำเตือนสีส้มถึงคลื่นความร้อนรุนแรงในพื้นที่บางส่วนของรัฐพิหาร ฌาร์ขัณฑ์ โอริสสา อานธรประเทศ และเบงกอลตะวันตก ทุกรัฐที่มีคนงานในชนบทและผู้ใช้แรงงานในสัดส่วนที่สูง ถูกบังคับให้ออกไปทำงานนอกบ้านแม้อุณหภูมิและความชื้นจะสูงลิ่ว

มุขมนตรีของรัฐเบงกอลตะวันตก สั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งในรัฐในสัปดาห์นี้ เพราะความกังวลเกี่ยวกับความร้อนที่รุนแรง และยังมีการเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาเอกชนใช้มาตรการเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอุณหภูมิในญี่ปุ่นพุ่งสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส มินามาตะ ในจังหวัดคุมาโมโตะสูงถึง 30.2 องศาเซลเซียส เป็นสถิติสูงสุดในเดือนเมษายน เเละนี้ยังมีการบันทึกอุณหภูมิที่สูงผิดปกติในเอเชียกลาง รวมทั้งคาซัคสถาน โดยอุณหภูมิ 33.6 องศาเซลเซียสที่ทาราซ สถิติสูงสุดในเดือนเมษายน และในเติร์กเมนิสถานและอุซเบกิสถาน

ข้อมูล : theguardian , bbc , indiatoday