เปิดขนส่งน้ำมันทางท่อยาวสุดในไทย สร้างมั่นคงพลังงาน-ลดเหลื่อมล้ำราคา

23 ธ.ค. 2564 | 00:39 น.

เปิดขนส่งน้ำมันทางท่อยาวสุดในไทยสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านราคา ผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อมสูง

รัฐบาลพยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน ดังนั้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจและส่งเสริมระบบการขนส่งน้ำมันที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น
แต่ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วยรถบรรทุกจากคลังน้ำมันต้นทางในเขตกรุง เทพฯ มีข้อจำกัดและมีปัญหาที่หลากหลาย ส่งผลให้การจ่ายน้ำมันในภูมิภาคขาดความคล่องตัว เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และมีค่าใช้จ่ายสูง การขนส่งน้ำมันด้วยระบบทาง ท่อจึงเป็นทางเลือกที่ดี ที่ช่วยให้การกระจายน้ำมันสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายพลากร สุวรรณรัฐ ประธานกรรมการ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BAFS) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือเป็นโครงการที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน ที่มอบหมายให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการในโครงการนี้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบรรทุกน้ำมัน ลดมลพิษ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อีกทั้งยังเป็นการรองรับการเจริญเติบโตของการเปิดท่าอากาศยานแห่งใหม่ทางภาคเหนือ และการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ โดยล่าสุดโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมัน สายเหนือระยะที่ 2 (กำแพง เพชร-ลำปาง) ณ คลังน้ำมันนครลำปาง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งพลังงานของประเทศที่สำคัญได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และพร้อมให้บริการแล้ว
ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร BAFS กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการและอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของกระทรวงพลังงาน มีข้อตกลงให้ BAFS Group เป็นผู้ลงทุนมูลค่ากว่า 10,900 ล้านบาท โดยมี บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและเป็นผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อมากว่า 30 ปี เป็นผู้บริหารระบบท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันที่สามารถขนส่งน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน น้ำมันเบนซินพื้นฐานออกเทน 91 และ 95 ในท่อเดียวกัน

ทั้งนี้ โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือเป็นท่อขนส่งน้ำมันที่ยาวที่สุดและทันสมัยที่สุดของประเทศ (จากบางปะอินถึงลำปางระยะทาง 576 กม. มีความสามารถในการขนส่งน้ำมันได้ 9,000 ล้านลิตรต่อปี) แม้โครงการจะให้ผลตอบแทนทางการเงินที่ต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงมาก โดยการขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นการขนส่งที่ใช้ไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน จึงทำให้ FPT ได้ Carbon Credit จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ต่ำกว่า 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี รวมทั้งลดการเกิดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 และช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกน้ำมัน และลดความเหลื่อมล้ำของราคาน้ำมัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือมีโอกาสใช้น้ำมันในราคาที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และไม่ขาดแคลนน้ำมันทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน

ประโยชน์จากระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือ
อีกทั้งคลังน้ำมันพิจิตรและคลังน้ำมันนครลำปางจะเป็นยุทธ ศาสตร์หลักที่สำคัญในด้านการเก็บสำรองน้ำมันและรองรับการเจริญเติบโตของภาคเหนือ รวมทั้งเป็นจุดจ่ายน้ำมันที่สำคัญไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การส่งออก น้ำมันจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีความสะดวก รวดเร็วขึ้น
ขณะที่คลังน้ำมันนครลำปางตั้งอยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงประเทศจีน-พม่า-ลาว-ไทย (คุน
หมิง-เชียงรุ่ง-ต้าหลั่ว-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก/แม่สาย) ช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี ที่ผู้ค้าทุกรายสามารถเข้าถึงการขนส่งน้ำมันทางท่อได้ รวมถึงยังเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียน เพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน