BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

25 มี.ค. 2567 | 06:16 น.

BAFS จี้รัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ พัฒนาน้ำมันอากาศยานยั่งยืน SAF ในไทย ผลักดันให้เป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยน ย้ำต้องจับมือและร่วมมือทั้งฟันเฟือง ถ้าไม่เริ่มวันนี้จะตามไม่ทันประเทศอื่น

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (บาฟส์) กล่าวบรรยายพิเศษภายในงานเปิดตัว CLIMATE CENTER โดยบริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด ในหัวข้อ Net Zero จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการบิน ว่า ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ชาติทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การค้าขาย สังคม เช่นการเดินทางไปมาหาสู่การแลกเปลี่ยนเทคโลยีวัฒนธรรมจากซีกโลกหนึ่งไปสู่อีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งการบินอยู่คู่กับการเดินทางจึงทำให้อุตสากรรมการบินเติบโตเร็วมาก ตั้งแต่เริ่มต้นที่มนุษย์ทำการบินครั้งแรก ค.ศ. 1903 ที่พี่น้องตระกูลไรท์ ทำการทดสอบบินในระยะทาง 36 เมตร เป็นเที่ยวบินแรก ผ่านไปแล้ว 121 ปี จนทุกวันนี้มีการบินทั่วโลกทุกวันเฉลี่ย 1 แสนเที่ยวบิน ระยะทางรวมกัน 10 ล้านกิโลเมตร

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตเร็วแบบได้ ก็คือ พลังงาน จากอดีตถึงปัจจุบันที่จะเครื่องบินจะใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล มีการเผาไหม้ฟอสซิล  สร้างปัญหาเกิดโลกร้อน มีการประเมินว่าอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซต์ทั้งหมด ฟังแล้วไม่เยอะ แต่อย่าลืมว่าจริงๆการบินเติบโตสูงต่อเนื่องทุกปี การบินในยุโรป อเมริกา เติบโต 3 % ต่อปี เอเชีย เติบโต  5.1% ต่อปี 

ฉะนั้นองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดว่าในปีค.ศ. 2050 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์จะเติบโต 3 เท่าจากที่ปล่อยในปีนี้ ถ้าธุรกิจอื่นปรับตัวได้ แต่ภาคการบินปรับเปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาคการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์สูงถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ทั่วโลก คือ ถ้าอุตสาหกรรมการบินไม่เปลี่ยน โลกไม่รอด
BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ  กระทบต่อทุกชีวิตบนโลก หลายส่วนตระหนักแก้ปัญหา ถ้าภาคการบินไม่เปลี่ยนก็ยากมากที่ปัญหาโลกร้อนจะคลี่คลาย โลกที่เรารู้จักอาจจะไม่เหมือนเดิม สถานที่ท่องเที่ยวสวยๆมรดกโลกที่เคยบินไปสัมผัส อีกหน่อยรุ่นลูกรุ่นหลานก็อาจไม่ได้ไปสัมผัส นี่คือเหตุผลที่ ICAO จึงมีการลิมิตการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ การบินหว่างประเทศ ไม่ให้เกินระดับที่เคยปล่อยในปี 2019 สมาชิก ICAO และไทยก็เป็นสมาชิก ICAO ประกาศเจตนารมย์ ชัดว่าเราจะมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 

BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

ขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ อย่างการขนส่งทางบก ก็ตื่นตัวมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนการขนส่งทางน้ำก็ใช้พลังงานไฮโดรเจน ขับเคลื่อนเรือไฟฟ้า แต่การขนส่งทางอากาศไม่ง่าย การจะเปลี่ยนการขนส่งทางอากาศ ต้องเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภค ต้องลงทุนมหาศาล ในสนามบินทั้วโลก มีเรื่องกฏระเบียนการบินที่เข้มข้นมากกว่า

ทำให้ภาคการบินไม่ได้เปลี่ยนง่ายเหมือนภาคการขนส่งอื่นๆ ถึงแม้จะมีแนวคิดที่จะนำเอาแบตเตอร์รี่ หรือเทคโนโลยีไฮโดรเจน มาใช้ในภาคการบิน แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ เพราะไฮโดรเจน มีข้อจำกัดเรื่องของคุณสมบัติ ไฮโดรเจนต้องไปเก็บในอุณหภูมิต่ำมากๆ ถังเก็บไฮโดรเจนต้องมีความหนาที่เยอะ ความหนาแน่นพลังงาน ไฮโดรเจน เป็น 1 ใน 4 ของพลังงานที่มาจากฟอสซิล ถ้าเราต้องการพลังงานที่เท่ากัน กับน้ำมันและฟอสซิล ต้องมีพื้นที่จัดเก็บใหญ่ถึง 4 เท่า

แปลว่าเครื่องบินจะมีพื้นที่พื้นที่ในการขนส่งสัมภาระผู้โดยสารได้น้อยลง ไฮโดรเจนถ้าอยากจะสะอาดจริง ต้องเป็นกรีนไฮโดรเจน เป็นต้นทุนสูง ส่วนแบตเตอร์รี่ เป็นไปได้ถ้าเครื่องบินเล็กๆพวกโดรนไฟฟ้ามีเหตุ แต่เครื่องบินพาณิชย์ที่ต้องบินระยะไกล ความจุของแบตเตอร์รี่ คิดว่าไม่เหมาะ ใช้เวลาพัฒนาอีกนาน

ฉะนั้นกุญแจที่เป็นทางออก และเราสามารถใช้ได้ในวันนี้ ก็คือ น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ในอดีตไทยนำเข้าน้ำมันดิบมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่ราคาน้ำมันในไทยเราต้องอ้างอิงตลาดต่างประเทศ  อย่างน้ำมันอากาศยานอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ ทำให้เราอาจศูนย์เสียความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ไทยขาดความมั่นคงทางพลังงาน ตอนนี้ความมั่นคงทางพลังงานหลายประเทศพูดถึงกันเยอะมาก  จากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน

ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะอียู มองการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด มากขึ้น หลายประเทศเร่งให้มีการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มเป็น 100% ภายในปี 2030 แล้วอะไรจะเกิดขึ้นถ้าทั่วโลกผลักดันการบินยั่งยืนโดยมี SAF เป็นกุญแจสำคัญ

แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งๆที่เรามีพื้นที่เพาะปลูกที่กว้างขวาง เรามีองค์ความรู้ด้านการเกษตร เรามีพี่น้องเกษตรกร เรามีองค์กรเอกชนมีความมุ่งมั่นอย่างจะพัฒนาโรงผลิต SAF แต่หลายฝ่ายอาจจะบอกว่า นโยบายไม่ชัด สมมุติต้องรอถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ถ้าเราปล่อยไปแบบนี้ พอถึงปี 2030  และ ปี 2050 คำถามีคือประเทศไทยจะปรับตัวแข่งคนอื่นเขาทันไหม

ผมคิดว่าความสำเร็จในการขับเคลื่อน SAF ในไทย ต้องมาจากการสร้างฟันเฟืองของห่วงโซ่อุปทานที่ครบถ้วนสมบูรณ์  ซึ่งทั่วโลกมีปัญหาเรื่องหนึ่งในการผลิต SAF คือ พวกวัตถุดิบที่นำมาผลิต ไม่เพียงพอ หัวใจของการพัฒนา SAF  คือ การพัฒนาพวกวัตถุดิบให้มีความหลากหลาย วันนี้มีความโชคดีคือมีผู้ผลิตหลายราย เร่งศึกษา ที่จะนำเอาสบู่ดำ สาหร่าย หรือของเสียอย่าง กากน้ำตาล ไขมันสัตว์ น้ำมันพืชใช้แล้ว มาใช้ในการผลิต SAF ซึ่งมีความร่วมมือระหว่าง BAFS กับกลุ่มมิตรผล และกลุ่มบางจากมุ่งมั่นที่จะหาวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อนำมาผลิต SAF

BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

เมื่อมีผู้ผลิตแล้วอีกฟันเฟืองนึง ที่สำคัญมาก คือการทำสถานีบริการผสมน้ำมันอากาศยาน กับคนที่จะรับรองคุณภาพความปลอดภัยของเชื้อเพลิง SAF ซึ่ง SAF ไม่เหมือนน้ำมันอื่นๆ คือต้องเอาไปผสม เรียกว่าเชื้อเพลิงสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบตั้งต้น จากนั้นเอาไปผสมกับน้ำมันอากาศยานดั้งเดิม ที่เรียกว่า JET A-1 ตามสัดส่วนที่มาตรฐานสากลกำหนด การตรวจสอบคุณภาพ เนื่องจากที่มีของวัตถุดิบ บางส่วนเป็นขยะ บางส่วนเป็นสาหร่าย มาจากน้ำมันพืชใช้แล้ว การตรวจสอบคุณภาพซับซ้อน จะไปดูแต่ว่าได้สเป็คน้ำมันไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับด้วยว่า ความยั่งยืนของการผลิตมีจริงหรือเปล่า ได้มีการคำนวณปริมาณลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้ครบถ้วน เพื่อให้สายการบินใช้ได้ แต่หน้าที่ในการตรวจคุณภาพน้ำมัน บทบาทนี้ BAFS ทำได้เพราะเราสั่งสมประสบการณ์มากว่า 40 ปี

BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

เมื่อมีผู้ผลิตแล้วสิ่งที่เหลือ คือ สายการบินที่จะใช้น้ำมัน SAF ความพร้อมของสายการบินในการใช้น้ำมัน SAF จะเกิดได้จาก 3 ส่วน ส่วนที่ 1  คือ ความต้องการของสายการบินเอง ที่อยากจะเติมโดยความสมัครใจ เพราะว่าอยากจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน อยากจะทำในเชิงของภาพลักษณ์องค์กร วันนี้สายการบินทั่วโลกตื่นตัวมาก การบินไทยก็เริ่มมีการเติมน้ำมัน SAF แล้วในบางเที่ยวบิน บางกอกแอร์เวย์กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาฯ ส่วนที่ 2 คือลูกค้า ผู้โดยสารอย่างพวกเราทุกคน องค์กรต่างๆที่เขาจำเป็นต้องเดินทางระหว่างประเทศ วันนี้ดีมานต์เยอะมาก  มีองค์กรใหญ่ๆระดับโลก เช่น โมโครซอฟท์บอกอยากลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ในการเดินทางไปต่างประเทศ  ขอทำสัญญาซื้อใบรับรองผลิต SAF จากผู้ผลิตในอเมริกาเป็นระยะเวลา 10 ปี ครอบคลุมปริมาณน้ำมัน 15 ล้านลิตร และจะมีอีกหลายองค์กรที่ต้องการซื้อ SAF

ส่วนที่เรายังขาดอยู่ ผม คิดว่าฟันเฟืองที่สำคัญ คือ นโยบายภาครัฐ ในวันนี้ถ้าเราไปดูประเทศที่มีความสำเร็จในการทำเรื่อง SAF ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีนโยบายเชิงรุกทั้งสิ้น ในอียู ประกาศแล้วเริ่มต้นตั้งแต่ปีหน้า สนามบินในอียู สายการบินในอียู ผู้ค้าน้ำมันในอียู จะต้องขายน้ำมัน SAF 2% ของปริมาณการขายทั้งปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็น 70 % ภายในปี 2050 ในสหรัฐอเมริกา ด้วยกฏหมาย IRA ให้เงินเลยถ้าเราผลิต SAF อเมริกาให้เงินสนับสนุน 2 เหรียญต่อ 1 ยูเอสแกลอน สิงคโปร์ กำหนดออกมาล่าสุดว่าภายในปี 2026 ทุกเที่ยวบินที่บินออกจากสิงคโปร์ ต้องเติม SAF 1 % และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็น 3-5 % ภายในปี 2030

BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

คำถาม คือแล้วประเทศไทยเราจะมีนโยบายอย่างไร หรือเราจะเรื่องของการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแท็กซ์ กับสายการบินที่เขาเติมน้ำมันมาจากประเทศที่ไม่มี SAF เพื่อให้สายการบินในประเทศของเราแข่งขันได้อย่างอย่างเป็นธรรม นโยบายทั้งหมดเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโมเดลความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ คือ การตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้ว กับการตั้งคณะกรรมการยานยนต์แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ

ถ้าเราอยากเห็น SAF เกิดขึ้นได้จริงในไทย ต้องมีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อทำให้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน มีการนำทุกภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่ง SAF ไม่ใช่เรื่องเล็กๆถ้าเราย้อนไปดูมูลค่าการซื้อขายน้ำมันอากาศยานดั้งเดิมที่เรียกว่า JET A-1 ในปี 2019 มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ 2 แสนล้านบาทนี้ตกอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่คน ผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน แต่ถ้าพูดถึง SAF ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ของ SAF เกี่ยวข้องกับคนกว้างขวางมาก พี่น้องเกษตรกร ครัวเรือนต่างๆ ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ที่สามารถนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปขายได้ ที่สำคัญที่สุด คือ สิ่งแวดล้อม เพราะการใช้ SAF จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น การพัฒนา SAF จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

เรื่องที่ผมพูดวันนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ความฝันหากทุกคนร่วมมือจับมือกัน พัฒนา SAF ให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในไทยในวันนี้ื หากพวกเราจับมือร่วมมือลงทุนพัฒนา SAF อย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในไทยวันนี้ วันนี้จากการผลิตที่ไม่เพียงพอ ทำให้ต้นทุน SAF ต่างจากน้ำมัน JET A-1 อยู่  3-5 เท่า  

BAFS เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ แจ้งเกิด SAF ในไทย

ผมอยากส่งสัญญานถึงรัฐบาล ต้องมีการตั้งคณะกรรมแห่งชาติผลักดันเรื่องนี้ ซึ่ง SAF จะเป็นโปรดักซ์แชมป์เปี้ยนของไทย วันนี้เป็นจุดเปลี่ยน ถ้าไม่ทำอะไร อีก  10 ปีไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องง้อต่างชาติ จึงต้องมีความร่วมมือเกิดขึ้นในทุกฟันเฟือง