กองทุนน้ำมันฯจ่อติดลบ 1 แสนล้าน หลังต้องตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท

04 ต.ค. 2566 | 00:29 น.

กองทุนน้ำมันฯจ่อติดลบ 1 แสนล้าน หลังต้องตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท หลังต้องอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลในประเทศ 8 บาทต่อลิตรไปจนถึงสิ้นปี 66 สนองนโยบายรัฐบาล พร้อมเตรียมแนวทางดูแลราคาน้ำมันปี ‘67

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สิ้นปี 2566 คาดการณ์ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีสถานะติดลบประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาท จากการอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลในประเทศปัจจุบันที่ประมาณ 8 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาเกิน 30 บาทต่อลิตรลิตรจนถึงสิ้นปี 2566

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล บนสมมติฐานราคาดีเซลสำเร็จรูปตลาดโลกประมาณ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากช่วงนี้ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 125 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปี 2565 ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันฯเคยติดลบทำสถิติสูงสุด 130,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังอยู่ระหว่างหารือแนวทางบริหารจัดการกองทุน เพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศปี 2567 หลังมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 จากที่เคยเรียกเก็บที่ประมาณ 5.99 บาทต่อลิตร รองรับสมมติฐานราคาน้ำมันตลาดโลกปีหน้าที่คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 115-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายเดือนพ.ย.นี้ แนวทางดังกล่าวจะมีความชัดเจน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5 ปี (2568-2572) กรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีการกำหนดเกณฑ์ระดับราคาที่เหมาะสมของเชื้อเพลิงว่าควรอยู่เท่าใดหลายกรณีศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไป 

กองทุนน้ำมันฯจ่อติดลบ 1 แสนล้าน หลังต้องราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท

ส่วนจะต้องมีการกู้เงินเพื่อดูแลเสถียรภาพราคาเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เนื่องจากกรอบวงเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท จะสิ้นสุดลงวันที่ 6 ต.ค.นี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินตามมาตรา 6 พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ยังสามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง

นายวิศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ล่าสุดได้ลงนามกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอีก 50,333 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเบิกตั้งแต่เดือนต.ค.นี้ครั้งละประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันไปจนถึงสิ้นปีนี้ จากที่ผ่านมากองทุนได้ทยอยกู้ยืมเงินสอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 แล้วประมาณ 55,000 ล้านบาท รวมสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช.กล่าวว่า สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ยังคงตรึงราคาขายปลีกขนาดถัง 15 กิโลกรัม(กก.) อยู่ที่ 423 บาท ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 จากราคาตามต้นทุนจริงควรอยู่ที่ 600 บาทต่อ 15 กก. ส่งผลให้ ณ วันที่ 1 ต.ค.2566 ฐานะกองทุนสุทธิติดลบ 65,732 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 20,806 ล้านบาท บัญชีก๊าซแอลพีจีติดลบ 44,926 ล้านบาท