การพัฒนาแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ผ่านมุมมอง “อนุสรณ์ ธรรมใจ”

02 ต.ค. 2566 | 08:06 น.

“อนุสรณ์ ธรรมใจ” แนะรัฐบาลเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาซึ่งเป็นแหล่งพลังงานปิโตรเลียมในอ่าวไทย ก่อน "สายเกินไป" และ "ไม่คุ้มทุนการสำรวจ"

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ บางจากปิโตรเลียม (บมจ บางจากคอร์ปอร์เรชั่น) เปิดเผยมุมมองการแก้ไขปัญหา พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ผ่าน เพจเฟซบุ๊ก Anusorn Tamajai - อนุสรณ์ ธรรมใจ วานนี้ (1 ต.ค.) ระบุ ความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนจะส่งผลบวกอย่างมากต่อเศรษฐกิจ การลงทุน และคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกับมาเลเซีย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และจะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศในอนาคต

หากเป็นเช่นนั้น ก็จะสามารถลดราคาพลังงานได้ในระยะยาว ลดต้นทุนภาคการผลิต และการดำเนินชีวิตของประชาชน สามารถทดแทนการนำเข้าพลังงาน ส่งผลบวกต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ตัดสินใจดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน (Overlapping Claims Area หรือ OCA ) ในตอนนี้แล้ว มูลค่าทรัพยากรพลังงานที่ได้จากพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวจะลดมูลค่าลงไปเรื่อยๆ ในช่วงสามทศวรรษข้างหน้า จนในที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้อาจไม่คุ้มทุนที่จะสำรวจขึ้นมาใช้

ถึงเวลาแล้ว ไม่ควรเนิ่นช้า

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อธิบายในเรื่องนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีพลังงาน ความก้าวหน้าของพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเข้ามาแทนที่พลังงานปิโตรเลียม ซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมดไม่เกินสามทศวรรษข้างนี้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของข้อตกลงระดับโลกต่างๆ จะทำให้แหล่งพลังงานดั้งเดิม ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน มีมูลค่าลดลง ดังนั้น หากไม่สำรวจและขุดมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมจะเกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าต่อการลงทุนพัฒนาจะลดลงตามลำดับ ภัยคุกคามต่อมนุษยชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

บริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย

การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศตั้งแต่ยุคสงครามเย็น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งเขาพระวิหารในอดีต ต่อมาในปีพ.ศ.2512 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาสิทธิและขอบไหล่ทวีป จากนั้นต่อมาจึงมีการประกาศเขตไหล่ทวีป รวมถึงการให้สิทธิสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา สมัยรัฐบาลจอมพลถนอมในไทยและสมัยรัฐบาลเจ้าสีหนุในเวลานั้น แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในกัมพูชา ประกอบกับเกิดความผันผัวนและวิกฤตการณ์ของระบอบประชาธิปไตยในไทยก่อนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จึงมีการหยุดให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการในปี พ.ศ.2518

รศ.ดร.อนุสรณ์ ย้ำว่า ปัญหาความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทับซ้อนมีความอ่อนไหวสูงในมิติการเมืองแบบชาตินิยม ซึ่งบรรดานักฉวยโอกาสทางการเมืองอาจหยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเพื่อปลุกระดมหวังผลประโยชน์ทางการเมืองบนต้นทุนค่าเสียโอกาสของทั้งสองประเทศ ฉะนั้น การกำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาต้องชัดเจน โปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณชน โดยควรครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่

  1. การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชาบริเวณไหล่ทวีป ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร
  2. การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาปี พ.ศ.2544 (MOU 2544)
  3. การเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
  4. การเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือตามโมเดลเขตพัฒนาพื้นที่ไทยมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
  5. การทำข้อตกลงใดๆ กับกัมพูชาที่ส่งผลระยะยาวต่อประเทศและประชาชนชาวไทยต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อนำแหล่งพลังงานใหม่มาใช้ จะก่อให้เกิดการต่อยอดการลงทุนอีกมากมายในเขต EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจำเป็นต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเตรียมระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการให้พร้อมอีกด้วย การเปิดเสรีภาคการลงทุนอาจทำให้เกิด Positive Spillover Effect จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ หากทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศมีระดับการศึกษาสูงและมีคุณภาพ มีพลังดูดซับดี รวมทั้งมีมาตรการในการทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน

"นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน"