เปิดภารกิจเคลียร์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มุ่งเร่งสำรวจผลิตปิโตรเลียม

29 ก.ย. 2566 | 01:57 น.

เปิดภารกิจเคลียร์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มุ่งเร่งสำรวจผลิตปิโตรเลียม หลังนายเศรษฐา ทวีสินเดินทางเยือน หวังลดนำเข้าแหล่งพลังงานจากต่างประเทศที่มีราคาแพง ช่วยพยุงค่าไฟฟ้าราคาถูกลงในระยะยาว

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) มีการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ตั้งแต่ปี 2512 เริ่มตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาสิทธิและขอบไหล่ทวีป ซึ่งนำมาสู่การประกาศเขตไหล่ทวีป รวมถึงการให้สิทธิสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาแต่ต้องมีการหยุดให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการในปี 2518

อย่างไรก็ดี การเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชามีความคืบหน้าอีกครั้งเมื่อมีความพยายามเจรจาหาประโยชน์ร่วมกันในปี 2543 หลังจากนั้นก็มีการเจรจาความคืบหน้าในบางรัฐบาล จนล่าสุดมาถึงรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยจะเร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่ม รวมถึงสนับสนุน การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อสร้าง ความมั่นคงพลังงาน

สำหรับเวลนี้นายเศรษฐา อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชาเพื่อเป็นการแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่รวมทั้งการกระชับสัมพันธ์และความร่วมมือทุกด้านไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงการต่อยอดการพัฒนาร่วมกัน โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมคณะด้วย 

นายปานปรีย์ ระบุก่อนการเดินทางว่า วาระการหารือไม่ได้มีการกำหนดประเด็นการเจรจา พื้นที่ทับซ้อน แต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายกัมพูชาที่จะยกประเด็นขึ้นมา แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะเข้าไปดูโครงสร้างคณะกรรมการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

วัตถุประสงค์การเจรจา 3 ประเด็น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนที่ผ่านมาดำเนินการผ่านคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา โดยรัฐบาลที่ผ่านมาประธานฝ่ายไทย คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็จะมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการใหม่ รวมถึงที่ผ่านมามีคณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาร่วม โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ทำงานร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดเตรียมข้อมูลให้รัฐบาลดำเนินการในเชิงนโยบาย โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 

  • การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร
  • การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนเมื่อปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาจัดทำ ข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
  • ในการดำเนินการเจรจาให้ใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ตามที่ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว

เยือนกัมพูชาเป็นจุดเริ่มต้นเจรจา

อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดเป้าหมายการเจรจา ได้แก่ รักษาสิทธิของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วมฯ โดยบรรลุการจัดทำความตกลงตามที่ได้กำหนดไว้ใน MOU 2544 ,ต้องเจรจาให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยทุกด้าน ,การเจรจาของไทยให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจพิจารณาแนวทางความเป็นได้อื่นที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับไทยและการดำเนินการเจรจาต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส
          
สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกัมพูชานั้น มีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อปี 2548 บริษัท เชฟรอน ของสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสัมปทานและเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ได้เคยประเมินไว้ว่ามีปริมาณก๊าซธรรมชาติหากคิดเป็นมูลค่าถึง 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท

กระทรวงพลังงานได้เตรียมข้อมูลทุกอย่างไว้ประกอบการตัดสินใจให้กับภาคนโยบายไว้อยู่แล้ว เพียงแต่รอให้ภาคนโยบายเรียกไปนำเสนอ ซึ่งเข้าใจว่าการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนประเทศกัมพูชา วันที่ 28 ก.ย.2566 จะมีการพูดคุยกระชับความสัมพันธ์ และดูท่าทีระหว่างกันมากกว่า ดังนั้น ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนอาจจะยังไม่มีการลงรายละเอียดในเชิงลึก ซึ่งอาจจะมีการเกริ่นถึงบ้าง

แหล่งก๊าซราคาถูก

แหล่งข่าว ระบุอีกว่า ในภาวะที่ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งต่างประเทศ หากไทยและกัมพูชาสามารถเจรจาสำเร็จจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ช่วยชดเชย การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพง โดยเฉพาะค่าไฟที่ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกภาระแทนผู้ใช้ไฟกว่า 1.3 แสนล้านบาท

"หากเจรจาสำเร็จโดยเร็วเชื่อว่า ทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนจะมาชดเชยปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่อนาคตจะมีกำลังการผลิตลดลง และยังเป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานไทยในอนาคต"

ที่ผ่านมารัฐบาล ทั้งไทยและกัมพูชาเจรจากันหลายรอบ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานต่างกระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจาเพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA มาใช้ประโยชน์ เพราะต้นทุน ราคา LNG ตลาดจร (LNG Spot) ที่ไทยต้องนำเข้ามีราคาสูงเฉลี่ยช่วงปี ที่ผ่านมา JKM Spot LNG ระดับ 20-30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับราคาก๊าซจากอ่าวไทย อยู่ที่ประมาณ 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แม้ช่วงปีนี้ จะลดลงมาระดับ 10-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งก็ยังมีความผันผวนเพราะนอกจากปัญหาทางการเมืองต่างประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยของสภาพ ภูมิอากาศมาเกี่ยวข้อง

การที่นำเข้า LNG ในปริมาณมาก ถือว่าเป็นความเสี่ยงของประเทศ รัฐบาลควรจะต้องเร่งเจรจาแหล่งพื้นที่ทับซ้อน OCA กับรัฐบาลกัมพูชา โดยควรเป็นนโยบายสำคัญของ รัฐบาล ที่จะต้องผลักดันให้เกิดผลโดยเร็ว เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ เพราะระยะเวลาในการเจรจาคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในขบวนการเจรจาประมาณ 6-10 ปี ถึงจะเริ่มขบวนการเข้าสำรวจพื้นที่ได้

รูปแบบร่วมพัฒนา 

แหล่งข่าวระบุอีกว่า หน้าที่หลักของการเจรจาคือกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงานก็พร้อมที่จะเตรียมข้อมูลสนับสนุน ดังนั้น การเจรจาก็ขึ้นอยู่กับทีมเจรจาและรัฐบาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ ตามที่เคยมีการเสนอ ได้แก่

  • วิธีแบ่งเขตแดนกันแบบพื้นที่ทับซ้อนไทย-เวียดนาม เมื่อปี 2540 โดยใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า
  • ร่วมลงทุนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแบบไทย-มาเลเซีย รูปแบบเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี 
  • ผสมผสานระหว่างรูปแบบที่ 1 กับ 2

"พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อน มีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลงด้วย โดยสิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทาน และรัฐบาลไม่ได้ประกาศยกเลิกเพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานในขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน"