“สนธิรัตน์”ชง 3 แนวทางเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา แก้วิกฤตพลังงาน

06 ม.ค. 2566 | 04:49 น.

“สนธิรัตน์”เสนอ 3 แนวทางเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา ชี้หากได้ข้อสรุปจะช่วยลดภาระประชาชนด้านค่าไฟ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวของประเทศ

วันนี้(6 ม.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย อดีตรมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่า 


“ผมเห็นด้วยกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชาครับ เพราะหากได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ เราจะสามารถช่วยลดภาระประชาชนด้านค่าไฟ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวของประเทศได้อีกทาง 

 

ในปี 62 ที่ผมบริหารกระทรวงพลังงาน ได้นำเรื่องนี้มาดูก็ได้มีการประเมินเบื้องต้นว่า ในพื้นที่ทับซ้อนที่มีนั้น มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรนั้น น่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมจำนวนมาก และได้พยายามผลักดันให้เกิดการร่วมพัฒนาในพื้นที่นี้ เพื่อเตรียมทดแทนก๊าซที่กำลังจะหมดในแหล่งบงกช เอราวัณในอนาคตอันสั้น

                                  “สนธิรัตน์”ชง 3 แนวทางเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา แก้วิกฤตพลังงาน
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการในเจรจาพูดคุย เพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมแห่งนี้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เราไม่สามารถจะชะลอเรื่องนี้ได้อีกแล้วครับ 


แต่การเจรจานั้นผมขอเสนอแนวทางเป็นกรอบคิดการเจรจาว่า


1. ควรยึดโมเดลการพัฒนาพื้นที่แบบโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย JDA ที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน


2. การเจรจาเรื่องนี้ควรยึดประโยชน์ของประชาชนคนในชาติ มากกว่าผลประโยชน์ด้านธุรกิจของบริษัทต่างๆ  ประโยชน์ที่ควรจะได้คือ คนไทยได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกและมีความมั่นคง


3. การพัฒนาพื้นที่และการเดินหน้าเรื่องนี้ ต้องมีการคิดใหม่เรื่องการคำนวณโครงสร้างต้นทุนราคาในการผลิตและจำหน่ายพลังงานที่จะได้ เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานราคาถูก 


ปัจจุบันแนวโน้มค่าไฟก็จะยิ่งสูงขึ้น เพราะเราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ซึ่งราคาก็มีความผันผวน ยิ่งจำนวนก๊าซในอ่าวไทยที่เราผลิตได้เองในปัจจุบันก็ไม่ได้ตามเป้า 

 

หากสามารถเจรจาให้มีข้อยุติได้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการเริ่มสำรวจและพัฒนา แม้ว่าจะใช้เวลาอีกหลายปี ถึงจะสามารถผลิตปิโตรเลียม ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็เป็นทางออกในการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้กับประเทศ ทดแทนก๊าซจากพื้นที่ผลิตในอ่าวไทยที่จะลดปริมาณลงเรื่อยๆ


เรื่องนี้ช้าไม่ได้อีกต่อไปครับ”