ปานปรีย์ลุยนโยบายกัมพูชา เพิ่มการค้าชายแดน-พัฒนาพื้นที่ศก.ร่วมกัน

26 ก.ย. 2566 | 04:18 น.

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เตรียมประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ-การร่วมพัฒนาพื้นที่ และแก้ไขปัญหา “ไทย-กัมพูชา” ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำคณะเยือนพนมเปญอย่างเป็นทางการ 28 ก.ย.นี้

 

กัมพูชา จะเป็น ประเทศแรกในอาเซียน ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย โดยในวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดสระแก้ว เพื่อสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ รับทราบปัญหา รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ เพื่อประมวลประเด็นเตรียมการก่อนที่จะร่วมคณะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เยือนประเทศกัมพูชา อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายนนี้

จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก” หรือที่รู้จักอีกชื่อในนาม ด่านอรัญประเทศ เป็นจุดผ่านแดนถาวรระหว่างประเทศไทย และกัมพูชา ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคลองลึก ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่นี่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากนักเดินทางผ่านเข้า-ออกเป็นจำนวนมากทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ค้าขาย บริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของ “ตลาดโรงเกลือ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดการค้าชายแดนภาคตะวันออกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก” ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

ทางคณะได้มีการพูดคุยกับข้าราชการหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ตัวแทนภาคเอกชน หอการค้าจังหวัด ตลอดจนผู้ค้าและประชาชน เพื่อสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ รับทราบปัญหารวมทั้งข้อเสนอต่างๆ เพื่อประมวลประเด็นเตรียมการก่อนที่จะร่วมคณะของนายกรัฐมนตรีเยือนประเทศกัมพูชา

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ประชุมหน่วยงานราชการ  ตัวแทนภาคเอกชน และหอการค้าจังหวัด

“รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ มีนโยบายที่ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเดียว แต่เราจะลงพื้นที่ชายแดนประเทศไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นประเด็นเศรษฐกิจชายแดน การลงพื้นที่ จ.สระแก้ว ของคณะครั้งนี้ จึงมาเพื่อรับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะจากภาคราชการและเอกชน โดยเฉพาะจากหอการค้าจังหวัดสระแก้ว ซึ่งก็มีการประชุมแบบปิดกันกว่า 2 ชั่วโมงจนได้รับข้อมูลหลายประเด็น เพื่อพิจารณากับประเทศกัมพูชา” รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว พร้อมระบุว่า กัมพูชาเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่นายกฯจะเดินทางเยือน เนื่องจากเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย และมีสัมพันธ์อันดี ต่อจากนี้ ก็อาจจะเป็นสปป.ลาว และมาเลเซีย เป็นลำดับต่อไป

รับทราบปัญหา-แสวงความร่วมมือกัมพูชา  

ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นที่มีการหารือในที่ประชุม คือ การส่งออกสินค้าข้ามแดน ซึ่งนายปานปรีย์ มองว่า เป็นเรื่องระดับประเทศที่ควรต้องพยายามลดขั้นตอนในการส่งออก เพราะแท้จริงแล้ว ในส่วนของชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็มีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษด้วย ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกับการส่งออกไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาได้ หลังจากนี้จะกลับไปพิจารณาหาแนวทางอำนวยความสะดวกเรื่องการส่งออกข้ามชายแดนให้มากขึ้น และลดขั้นตอนทางศุลกากรให้น้อยลง

ปัจจุบัน การค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชานั้น มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท (ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ปี 2565)

นายปานปรีย์ ยังเปิดเผยว่า ได้หยิบยกปัญหากลุ่มมิจฉาชีพข้ามแดน (ไทย-กัมพูชา) แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขึ้นมาหารือในที่ประชุมด้วย เนื่องจากเป็นปัญหาต่อประชาชนไทยมาก นอกจากสร้างความรำคาญแล้ว ก็ยังก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ซึ่งก็ได้รับรายงานว่าส่วนใหญ่กลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมายจะอยู่ตามแนวชายแดน จึงจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับกัมพูชาให้ร่วมกันจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อไป

จับเข่าคุยผู้ประกอบการตลาดโรงเกลือ

นอกจากการประชุมกับภาคราชการและหอการค้าจังหวัดแล้ว คณะของรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ยังได้เยี่ยมชมจุดผ่านแดนถาวรคลองลึก – ปอยเปต รวมทั้งสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก และได้พบปะพูดคุยแบบจับเข่าคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดโรงเกลือ เพื่อรับทราบอุปสรรคปัญหาต่างๆที่มีอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่การหาแนวทางช่วยเหลือ และส่งเสริมการค้า-การท่องเที่ยวระหว่างกัน เป็นลำดับต่อไป

พบปะพูดคุยแบบจับเข่าคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดโรงเกลือ

นายพิชัย ประสิทธิ์ชูวงษ์ กรรมการหอการค้าจังหวัดสระแก้ว และตัวแทนผู้ค้ากระเป๋า-รองเท้าในตลาดโรงเกลือ หนึ่งในตัวแทนผู้ประกอบการตลาดโรงเกลือสะท้อนปัญหาว่า ผู้ค้าทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิด โดยก่อนเกิดโควิดเคยมีเงินสะพัดในตลาดโรงเกลือวันละกว่าร้อยล้านบาท แต่หลังโควิดจนถึงขณะนี้ มูลค่าการค้าแทบจะไม่ถึง 30 ล้านบาท ความคึกคักยังไม่กลับมา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเรียกค่าคุ้มครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกัมพูชา ตลอดจนปัญหาการจัดการที่ดินในการทำมาหากินด้วย รวมทั้งปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หลายครั้งที่สินค้ามือสองของที่นี่ถูกปัดเข้าข่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะไม่ใช่ของใหม่ ล่าสุด ยังมีเรื่องของตลาดออนไลน์ที่เข้ามาแย่งชิงลูกค้า ทำให้คนหันไปซื้อจากผู้ค้าออนไลน์ที่ดีลสินค้าตรงจากโรงงานในจีน เป็นต้น   

นายปานปรีย์ กล่าวว่า นี่เป็นโอกาสที่ได้มารับฟังปัญหา โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจชายแดนซึ่งตลาดโรงเกลือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจการค้าบริเวณชายแดนทั้งยังเป็นจุดรองรับการท่องเที่ยว  

"เราจะเข้าไปเจรจากับทางกัมพูชา เชื่อว่าทางฝั่งกัมพูชาจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันในฐานะที่ผม(รองนายกรัฐมนตรี) กำกับดูแลการท่องเที่ยว ก็จะผลักดันชาวไทยให้มาท่องเที่ยวที่จังหวัดสระแก้วเพิ่มมากขึ้น และตลาดโรงเกลือจะเป็นจุดหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ต่างจังหวัด และคนจากจังหวัดอื่นได้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในโรงเกลือได้มากขึ้นด้วย" นายปานปรีย์ ยังกล่าวด้วยว่า

พูดคุยเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา (จากซ้ายไปขวา) นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ , นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.เพื่อไทย จ.สระแก้ว, นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการ จ.สระแก้ว และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

"ชื่อเสียงของตลาดโรงเกลือต้องกลับมา เวลานี้เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นก็เป็นโอกาสที่จะดึงชื่อเสียงกลับมา ไม่ให้คนมีข้อสงสัย ผมเชื่อว่าทุกท่านบริสุทธิ์ ไม่ได้มีเจตนาที่จะละเมิดลิขสิทธิ์ หรืออาจจะมีบางรายที่แอบทำบ้าง ซึ่งพูดตรงๆ ปลาเน่าตัวเดียวอาจจะเน่ากันไปหมด มันก็ไม่เป็นธรรม ต้องมาคุยกันและต้องให้เลิก ส่วนในภาครัฐก็จะให้การสนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว เรื่องการท่องเที่ยวและการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง"

ด้านนายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เน้นย้ำว่า จะมีการประสานให้ปลัดจังหวัด ปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ให้หมดไป โดยจะมีการขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย

เปลี่ยนพื้นที่ทุ่นระเบิด เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นายปานปรีย์ ยังกล่าวถึงกำหนดการเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ คาดว่าจะได้เจรจากับกัมพูชาหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งเรื่องเส้นทางสินค้าส่งออก-นำเข้า เรื่องความปลอดภัยของประชาชนและความร่วมมือในพื้นที่ใหม่ๆ ยกตัวอย่างกรณี ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งวันนี้ก็ได้รับข่าวดีว่า กองทัพบกได้ดำเนินการจัดการ (เก็บกู้ทุ่นระเบิดออกจากพื้นที่) จนขณะนี้ เหลือเพียง 5.9 ตารางกิโลเมตรแล้ว จากเดิมที่มีมากกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเหลือน้อยมาก โดยเป็นพื้นที่บริเวณบ้านป่าไร่ จ.สระแก้ว ดังนั้น หากจัดการให้พื้นที่เหล่านี้มีความปลอดภัยโดยสมบูรณ์แล้ว ไทยและกัมพูชาก็จะสามารถร่วมกันพัฒนาให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจได้

“ในส่วนของประเทศไทยเองมีความพร้อม ก็จะสอบถามว่าทางกัมพูชามีความพร้อมขนาดไหน ไทยก็พร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน”

สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา

ทั้งนี้ หลังติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารสำนักงานศุลกากรบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท) ที่สร้างเพื่อลดความแออัดของจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก – ปอยเปตแล้ว ทางคณะยังได้แวะเยี่ยมชมการปฏิบัติงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ชายแดนของ อ. อรัญประเทศด้วย

นายปานปรีย์ เน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาขณะนี้ดีอยู่แล้ว และเชื่อว่าจะดียิ่งๆขึ้นไป ส่วนตัวมีโอกาสได้พบกับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิงยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทักทายกันว่าวันที่ 28 ก.ย. นี้จะได้พบกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นเกียรติมาก

ยังรอลุ้นการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย

ในการลงพื้นที่เยือนชายแดนไทย-กัมพูชา ณ จังหวัดสระแก้วครั้งนี้ (ฝั่งกัมพูชาคือจังหวัดบันทายมีชัย หรือ บ็อนเตียย์เมียนเจ็ย ในภาษาท้องถิ่น) ยังไม่ได้มีการพูดถึงการเจรจาความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชาในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลด้านอ่าวไทย หรือ OCA (overlapping claims areas) เนื้อที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่ามีสำรองปิโตรเลียมในปริมาณและมูลค่ามหาศาลรอการขุดค้นขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยประเด็นดังกล่าว ในยุคของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีการนำมาปัดฝุ่นเตรียมเจรจากับฝ่ายกัมพูชา หลังจากที่รัฐบาลพนมเปญแจ้งว่า มีความพร้อมที่จะนำเรื่องนี้ กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจากันอีกครั้งเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของการเตรียมประเด็นการเจรจาหารือระหว่างผู้นำรัฐบาลไทยและกัมพูชา ก่อนที่นายกฯจะเดินทางเยือนในวันที่ 28 ก.ย. ดังนั้น ประเด็นพื้นที่ทับซ้อน OCA จะมีการหยิบยกมาหารือด้วยหรือไม่ในครั้งนี้ ยังคงมีเวลาที่จะพิจารณากัน