ขยะอวกาศ คืออะไร ทำไมถึงเป็นภัยคุกคามที่ต้องจับตา

21 เม.ย. 2566 | 23:00 น.

เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีรุดหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีอวกาศ มนุษย์จึงต้องเผชิญกับความท้ายในการจัดการขยะอวกาศ แล้วสิ่งนี้คืออะไร ทำไมถึงเป็นภัยคุกคามที่ต้องจับตา

พอพูดถึง “ขยะ” หลายคนอาจจะคิดไปถึงสิ่งปฎิกูล ขยะพลาสติก ต่างๆ เเต่คงคิดไม่ถึงในอวกาศก็มีขยะเหมือนกัน ด้วยความที่เวลานี้การพัฒนาของเทคโนโลยีอวกาศเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันมนุษยชาติก็กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในการจัดการความเสี่ยงนอกโลกจากการมีอยู่อย่างมหาศาลของ “ขยะอวกาศ”

ก่อนจะไปดูว่าขยะอวกาศส่งผลกระทบอะไรบ้าง ทำไมต้องให้ความสำคัญกับขยะชนิดนี้ ต้องรู้ก่อนว่า ขยะอวกาศคืออะไร 

ข้อมูลจาก GISDA ระบุว่า ขยะอวกาศ คือวัตถุที่โคจรอยู่ในวงโคจรอวกาศรอบโลก ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งาน ยานอวกาศที่ปลดระวางแล้ว ชิ้นส่วนที่ถูกสลัดทิ้งระหว่างภารกิจขึ้นสู่อวกาศ  เศษซากชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นจากการชนกันหรือการบุสลายของวัตถุอวกาศ สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อการดำเนินการบนห้วงอวกาศในหลายด้าน เป็นความเสี่ยงและภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

วงโคจรอวกาศคับคั่ง

ชิ้นส่วนขยะอวกาศที่ลอยเคว้งมานานนับสิบปี ข้อมูลจากรายงาน Space Environment ปี ค.ศ. 2021 ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรือ ESA ได้เปิดเผยสถานการณ์ขยะอวกาศในปัจจุบัน มาดูกันว่ามีประเด็นใดบ้างที่น่าติดตาม

ปัจจุบันมีขยะอวกาศที่ขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรล่องลอยอยู่ในวงโคจรโลกมากกว่า 30,000 ชิ้น และคาดว่าจะมีชิ้นส่วนขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรอยู่มากถึง 128 ล้านชิ้น

สิ่งที่น่ากังวลคือชิ้นส่วนของขยะอวกาศ แตกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศ ดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ในวงโคจรต้องถูกควบคุมให้หลบเลี่ยงการปะทะกับชิ้นส่วนที่ล่องลอย

หากวัดจากชิ้นส่วนของวัตถุที่มีขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไป ตามโมเดลของ ESA จะมีชิ้นส่วน “ขยะอวกาศ” ที่ลอยละล่องอยู่ในชั้นบรรยากาศกว่า 1 ล้านชิ้นเลยทีเดียว และยิ่งการชนปะทะเกิดขึ้นต่อเนื่อง 

ข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกเเละวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ขยะอวกาศขนาด 1 กิโลกรัม เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 7.5 กิโลเมตรต่อวินาที จะก่อให้เกิดพลังงานเทียบเท่ารถบัสขนาด 16 ตัน เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 216 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อปะทะเข้ากับดาวเทียม หรือ สถานีอวกาศ จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

ดาวเทียมถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศมากเป็นประวัติการณ์

ปี 2020 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งกิจการอวกาศทั่วโลก (New Space) มีการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศจำนวนมาก โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ จากความต้องการใช้ประโยชน์ข้อมูลในภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาดาวเทียมที่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้สามารถปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากได้พร้อมกันในการขนส่งสู่อวกาศแต่ละครั้ง

ในปี 2021 พบว่ามีการขนส่งวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกันในจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสามารถลดต้นทุนในการดำเนินการต่อดาวเทียมได้ และส่งผลให้ระบบดาวเทียมแบบ Constellation มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีการเปิดให้บริการด้านการสื่อสารและประยุกต์ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แม้ว่าการมีดาวเทียมจำนวนมากจะสร้างคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ท้าทายกับการจัดการปัญหาขยะอวกาศในระยะยาว