“จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์”แข่งฟุตบอลสานสัมพันธ์ 30 มี.ค. 67 หวังเกิดสิ่งดีแก่สังคม

12 ธ.ค. 2566 | 12:06 น.

“จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์”จัดแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์ 30 มี.ค. 2567 ที่สนามศุภฯ เชื่อจะเป็นกิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาใช้เวทีนี้ปล่อยพลัง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ นวัตกรรมดี ๆ เป็นตัวอย่างแก่สังคม

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.เกศินี  วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.ธนพร คูชัยยานนท์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ นายคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.ปุณยภา คุณาวิชชา ประธานโครงการฯ ร่วมแถลงข่าวการจัดการแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ “CU-TU Unity Football Match 2024” ซึ่งองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) และ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จะร่วมกันจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2567 ณ สนามศุภชลาศัย

น.ส.ปุณยาภา กล่าวว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬา-ธรรมศาสตร์ เป็นงานที่ได้จัดขึ้นใหม่ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ไม่ได้จัดงานใหญ่ ๆ มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่ง มี 3 เหตุผลหลัก ๆ ของการจัดกิจกรรมนี้

ส่วนแรก คือ เป็นการจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ได้จัดมานานแล้วตั้งแต่โควิด และถือว่าเป็นงานแรก ๆ เลยที่กลับมาจัดเตรียมงานขนาดนี้ 

ส่วนที่สอง คือ เป็นงานที่ให้นิสิตของทั้งสองฝั่งแสดงศักยภาพผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรด แปรอักษร หรือกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนวันจริง 

ส่วนที่สาม คือ เป็นพื้นที่เป็นกระบอกเสียงของสังคมในการพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หรือประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน 

น.ส.ธนพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเนื่องจากมีโควิด เราอาจจะไม่ได้จัดกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยมานาน คิดว่างานนี้น่าจะเป็นงานที่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ๆ และได้เซ็ตซีโร่กิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นให้กับนิสิตนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย ได้ทำกิจกรรมเพิ่มเติมมากกว่าภาพจำเดิม ๆ และน่าจะทำให้เราได้สร้างความสัมพันธ์มากกว่าการแข่งขันและได้จัดกิจกรรมร่วมกันในหลาย ๆ กิจกรรมมากยิ่งขึ้น

ส่วนนายคุณากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมายาวนาน ทั้งในส่วนของระดับผู้บริหาร ส่วนของสมาคมต่าง ๆ รวมไปถึงทางนักศึกษาทั้ง อมธ. และ อบจ. เราห่างหายจากการทำงานร่วมกันพอสมควร 

โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้พยายามทำให้หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น ทั้งการพูดคุย ประชุมกันบ้าง และรู้สึกว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันหลายครั้งจึงออกมาเป็นงานในครั้งนี้ ที่อยากสื่อสารกับสังคมว่า พื้นที่งานในครั้งนี้ จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ

รวมถึงผลักดันประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม โชว์ของต่าง ๆ และต้องยอมรับว่านักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความสามารถ ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพของนักศึกษาอย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมมากที่สุด

ขณะที่ ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า เมื่อนิสิต-นักศึกษาเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจัดขึ้นมาเป็นเวทีของ 2 สถาบันหลักของประเทศไทย ที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมดี ๆ ให้แก่สังคม ทางจุฬาฯ รับทราบ และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมดี ๆ ของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบัน โดยทางศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบันพร้อมให้กำลังใจ และช่วยเหลือเต็มที่ 

ทั้งนี้ การจัดงานในครั้งนี้ไม่ได้เพื่อการแข่งขัน แต่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ต่อสังคม เชื่อว่าจะเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่นิสิตนักศึกษาจะใช้เวทีนี้ปล่อยพลัง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ นวัตกรรมดี ๆ เป็นตัวอย่างแก่สังคม ด้วยความสดใสของนิสิตนักศึกษาในวัยนี้ 

“เชื่อว่ากิจกรรมบอลสานสัมพันธ์ CU-TU จะเป็นอีกครั้งที่สังคมจะได้รับรู้รับทราบถึงกิจกรรมดี ๆ ที่เกิดขึ้น และสืบสานจากกิจกรรมเดิม ๆ ที่เคยมีอยู่”

ด้าน รศ.เกศินี กล่าวว่า เราอยากจะเห็นกิจกรรมดี ๆ ที่จะเป็นเวทีของนิสิตนักศึกษาที่ช่วยกันคิดค้นขึ้นมา เพื่อทำให้วงการการศึกษาไทยสามารถเชิดหน้าชูตาได้

กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากห่างหายจากการพบกันเป็นเวลานาน จนได้มีการดำเนินการจัดงานขึ้นมา เพื่อทำให้วงการการศึกษาไทยมีคุณภาพ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะมุ่งมั่นสร้างความมั่นใจให้กับผู้คนทุกกลุ่มทั้งทางธรรมศาสตร์และจุฬาฯ เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างงานวิจัยดี ๆ และนำผลวิจัยมาวิจัยต่อไป