จุฬาผุดหลักสูตร์ข้ามศาสตร์"MSB"ปั้นนักวิทยาศาสตร์ธุรกิจรับอนาคต

06 พ.ย. 2566 | 07:52 น.

จุฬาผุดหลักสูตร์ข้ามศาสตร์"MSB"ปั้นนักวิทยาศาสตร์ธุรกิจรับอนาคต เผยเป็นที่แรกในประเทศไทย มุ่งต่อยอดองค์ความรู้ระดับปริญญาตรีไปสู่นวัตกรรมสินค้าหรือบริการขององค์กรภาครัฐและเอกชน

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีและคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อตอบรับตลาดแรงงานในเรื่องของอนาคต (Future of jobs)

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หลักสูตร MSB ( Master of Science in Business) ซึ่งถือว่าเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยผ่านการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาทักษะเตรียมตัวเป็นผู้ประกอบการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ CEO ระดับประเทศ และการทำแผนธุรกิจจริง 

สำหรับหลักสูตร MSB นั้นถือเป็นหลักสูตรแบบ Almost MBA ที่รับเฉพาะนิสิตปริญญาตรีที่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน ผ่านหน่วยกิตรวมระดับปริญญาตรี 120 หน่วยกิจ และต้องการเรียนต่อเนื่องเพื่อรับปริญญาโทสาขาธุรกิจภายใน 1 ปี 

โดยองค์ความรู้ประกอบด้วย 5 ศาสตร์วิชาหลัก ได้แก่ Accounting ,Finance ,Management ,Marketing ,Statistics and Data Science และโอกาสจากวิชาใหม่ล่าสุดเพื่อจุดประกายการปั้นนักวิทยาศาสตร์ให้เป็นนักธุรกิจ ด้วยวิชา CEO Experience Sharing ตั้งแต่ต้นหลักสูตร 

จุฬาผุดหลักสูตร์ข้ามศาสตร์"MSB"ปั้นนักวิทยาศาสตร์ธุรกิจรับอนาคต

รวมถึงเรียนรู้การทำแผนธุรกิจ (Business Plan) ที่ต่อยอดองค์ความรู้ระดับปริญญาตรีไปสู่นวัตกรรมสินค้าหรือบริการขององค์กรภาครัฐและเอกชนที่มหาบัณฑิตจะเข้าไปร่วมงาน หรือธุรกิจใหม่ ได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืน และสร้างความแตกต่างของบัณฑิตและมหาบัณฑิตจุฬาฯ ที่มี Competitive advantages ผ่าน Business mindset การบูรณาการข้ามศาสตร์ การพัฒนาทักษะ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือผู้นำองค์กรระดับสูงสุดทั้งภาครัฐและเอกชน

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวอีกว่า หลักสูตร MSB นิสิตจะได้เรียนรู้จากตำรา สื่อความรู้ การทำแผนธุรกิจ และประสบการณ์ที่จะได้รับการถ่ายทอดจาก CEO ชั้นนำระดับประเทศ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานเมื่อจบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 
 

"ถือเป็นการติดปีกความรู้ทางธุรกิจ ให้กับทุกศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการนี้ในโอกาสต่อไป จะได้พัฒนาความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะคณะแพทย์ศาสตร์ และคณะอื่นต่อไป" 

ศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากสำหรับนิสิตในการเสริมองค์ความรู้ด้านธุรกิจให้กับนิสิตของคณะวิทยาศาสตร์ และลดระยะเวลาศึกษาลงด้วย รวมถึงความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ทั้งสองคณะ นำมาซึ่งการพัฒนาความรู้และการบูรณาการข้ามศาสตร์ร่วมกันต่อไป