"คณะองคมนตรี" ร่วมติดตามประชุม ปภ. บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2565

07 มิ.ย. 2565 | 11:04 น.

คณะองคมนตรี ร่วมติดตามการประชุม "กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ"  ร่วมกับ มท.1 ผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565

วันนี้ (7 มิ.ย. 65) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ  พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข  พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ  พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา  นายจรัลธาดา กรรณสูต  พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ  นายอำพน กิตติอำพน  พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง

 

ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)  เป็นประธานการประชุม

 

เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน ปี 2565

"คณะองคมนตรี" ร่วมติดตามประชุม ปภ. บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2565

โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ web conference

 

ในการนี้ คณะองคมนตรีได้มีข้อห่วงใยและให้กำลังใจทุกหน่วยงานในการที่จะร่วมกันบูรณาการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัย และดูแลความปลอดภัยและชีวิตของประชาชน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่และแม่น้ำสายหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง

 

รวมถึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

"คณะองคมนตรี" ร่วมติดตามประชุม ปภ. บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2565

พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานไว้กรณี “อุทกภัย”

 

และพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 บกปภ.ช. ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับหน่วยงานด้านพยากรณ์ พร้อมประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกำหนดมาตรการ/แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

"คณะองคมนตรี" ร่วมติดตามประชุม ปภ. บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2565

ซึ่งภาพรวมของฤดูฝนประเทศไทยปีนี้มีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 52% โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์ว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณปลายมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2565 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานด้านตะวันออกจะมีการกระจายตัวของปริมาณฝนน้อย ทำให้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งกรมชลประทานได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้ไว้แล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำ

 

นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยจากปริมาณฝนสะสมในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุ 1-2 ลูกที่จะเคลื่อนตัวผ่าน 

"คณะองคมนตรี" ร่วมติดตามประชุม ปภ. บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2565

การประชุมในวันนี้จึงเป็นการเตรียมพร้อมรับมือช่วงฤดูฝนในปี 2565 เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการบูรณาการบริหารจัดการน้ำใน 2 ประเด็นหลัก โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการบริหารจัดการกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบ 13 มาตรการในการรับมือช่วงฤดูฝน ปี 2565

 

อาทิ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย (One Map) การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำและบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก การปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การวางแผนกระจายเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยง การเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ฯลฯ

"คณะองคมนตรี" ร่วมติดตามประชุม ปภ. บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2565

ซึ่งได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดแล้ว นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมออกปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุที่ได้จัดทำ

 

ตลอดจนกำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้าง บำรุงรักษาถนน กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ ส่วนพื้นที่ ติดชายฝั่งทะเล หากมีการประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดและเมื่อสถานการณ์คลี่คลายให้เร่งสำรวจผลกระทบความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป

 

ขณะนี้ได้มีการประสานข้อมูลจากทุกหน่วยงานทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ GISTDA กรมชลประทาน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม เพื่อให้สามารถพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าและแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"คณะองคมนตรี" ร่วมติดตามประชุม ปภ. บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2565

ซึ่งได้มีการจัดเก็บข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งจากพื้นที่จริงควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565

 

โดยดำเนินการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง การจัดทำแผนเผชิญเหตุ การเตรียมการระบายน้ำ การแจ้งเตือนภัย และเมื่อคาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัยให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด พร้อมจัดชุดปฏิบัติการและเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เข้าประจำจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

 

"สำหรับพื้นที่ในเขตชุมชนเมือง ได้เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตเมือง มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยเฉพาะการเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในท่อระบายน้ำและทางน้ำให้สามารถรองรับกรณีฝนตกหนักและฝนตกสะสมในพื้นที่ รวมถึงกำหนดพื้นที่ชุมชนและบริเวณจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง และประสานการปฏิบัติในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณจุดเสี่ยง เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

 

นายบุญธรรม  เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหน่วยงานด้านพยากรณ์และหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัย

 

รวมถึงได้จัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยรอบ 10 ปี (พ.ศ.2554 – 2563) ตามโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ซึ่งพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจำนวน 33,176 หมู่บ้าน ซึ่งได้นำมาวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น

 

หากมีพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดสาธารณภัยขึ้น ปภ.จะทำการเตือนในรูปแบบข้อความสั้น (SMS) ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัย เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

 

นอกจากนี้ ปภ. ยังมีช่องทางการแจ้งเตือนภัยเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือ และลดความเสี่ยงและผลกระทบจากสาธารณภัยได้อีกทางหนึ่ง 

 

ส่วนการเตรียมการเผชิญเหตุ ปภ. ได้ประสานจังหวัดทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์น้ำของจังหวัด ทั้งนี้ ได้จัดเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถประกอบอาหาร รวม 118 รายการ ไปเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าประจำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยแล้วในพื้นที่ 24 จังหวัด เพื่อให้การสนับสนุนการเตรียมการเผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทาง Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป