ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่ต้องการแรงกระตุ้นใหม่ รัฐบาลไทยได้เคยเสนอแนวคิดการจัดตั้ง “Entertain ment Complex” หรือศูนย์รวมสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งรวมกิจการหลากหลายประเภท เช่น กาสิโน ศูนย์ประชุม โรงแรม และแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบ Man-Made Destination เพื่อสร้างแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนจากทั่วโลก
ทว่าล่าสุด การผลักดันเรื่องนี้ยังไม่เห็นถึงเดินหน้าต่อได้อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากรัฐบาลตัดสินใจเลื่อน การบรรจุวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การประกอบสถานบันเทิงครบวงจรเข้าพิจารณาต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นในสมัยหน้า จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา
เนื่องจากมีการคัดค้านเป็นวงกว้างขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศเป็นการด่วนจากนโยบายภาษีตอบโตของโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการวมถึงเหตุแผ่นดินไหว
แม้รัฐบาลจะชะลอการบรรจุวาระ “รายงานผลศึกษาโครงการ Entertainment Complex” และท่ามกลางกระแสสังคมที่ยังตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการเปิดเสรี “กาสิโน” ในประเทศไทย แต่ในอีกมุมหนึ่ง การแย่งชิง “ทำเลทอง” กลางเมืองเพื่อต้อนรับเมกะโปรเจ็กต์นี้กลับเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะแผนการพัฒนา “ท่าเรือคลองเตย” ให้กลายเป็นศูนย์กลางความบันเทิงครบวงจรระดับโลก ซึ่งในโลกของอสังหาริมทรัพย์ อาจเป็น “หมากสำคัญ” ที่อาจเปลี่ยนแปลงใจกลางกรุงเทพฯ ไปอย่างสิ้นเชิง
หนึ่งในพื้นที่ที่ถูกจับตามองมากที่สุดสำหรับการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ระดับแสนล้านเช่นนี้คือ “ท่าเรือคลองเตย” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ รายล้อมด้วยโครงข่ายคมนาคมทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน และการขนส่งทางนํ้า อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการพัฒนาโครงการระดับสากล
อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการบนพื้นที่ท่าเรือคลองเตยยังเผชิญอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะในด้านกฎหมายและผังเมือง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ผังเมืองประเภท “สีนํ้าเงิน” ซึ่งกำหนดให้ใช้เพื่อสาธารณูปโภคของรัฐ ไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชยกรรมได้ตามกฎหมายปัจจุบัน นอกจากนี้พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ยังห้ามการจัดตั้งและดำเนินกิจการกาสิโนโดยไม่มีข้อยกเว้น ส่งผลให้ต้องมีการออกกฎหมายเฉพาะ หรือการตีความใหม่ เพื่อให้โครงการประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง
การท่าเรือฯ เองมีแผนแม่บทที่เสนอให้ปรับผังเมืองจากสีนํ้าเงินเป็น “สีแดง” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้พัฒนาเชิงพาณิชย์บางประเภทได้มากขึ้น ทว่าแม้จะเปลี่ยนผังเมืองได้สำเร็จ การจะเปิดสถานบันเทิงครบวงจรยังคงต้องอาศัยกฎหมายอื่นๆ มารองรับเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวอย่างการอนุญาตให้มีกาสิโน ซึ่งต้องได้รับการควบคุมเข้มงวดและมีระบบกำกับดูแลเฉพาะ
หากมองไปยังประเทศที่เคยประสบความสำเร็จในโมเดลนี้ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จะพบว่าทุกแห่งต่างวางโครงสร้างกฎหมาย การวางผังเมือง และการจัดการด้านความปลอดภัยไว้อย่างรัดกุม สิงคโปร์เลือกใช้พื้นที่ถมทะเลสร้าง “Marina Bay Sands” พร้อมระบบคัดกรองและกลไกควบคุมชัดเจน
ขณะที่มาเก๊ามีกฎหมายเปิดกว้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนสหรัฐฯ เลือกพัฒนา Entertainment Complex ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะที่แยกจากใจกลางเมืองเพื่อกระจายรายได้และควบคุมผลกระทบสังคม เช่น ลาสเวกัส หรือแอตแลนติกซิตี
กรณีของญี่ปุ่น มีการกำหนดให้ Entertainment Complex ตั้งอยู่ในเมืองหลักอย่างโอซาก้าและโยโกฮามา ซึ่งมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและการควบคุมที่เข้มข้น ในขณะที่ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่คลองเตย แม้จะมีข้อได้เปรียบด้านทำเลและขนาดที่ดิน แต่ยังขาดความพร้อมด้านกฎหมายและระบบความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า พื้นที่ดังกล่าวยังใช้สำหรับการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และสินค้าที่มีความเสี่ยง เช่น นํ้ามันซึ่งอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
ในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันยังต้องอาศัยการลงทุนและพัฒนาเพิ่มเติม ทั้งในด้านการเพิ่มถนนเชื่อมต่อขนาด 30 เมตร การขยายระบบขนส่งมวลชน รวมถึงการเตรียมโครงข่ายสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการจากต่างประเทศ โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะสามารถรองรับการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือ “ความปลอดภัย” ทั้งในเชิงกายภาพและทางสังคม การพัฒนา Entertainment Complex จำเป็นต้องมีกลไกป้องกันอาชญากรรม การฟอกเงิน และปัญหาสังคมอื่นๆ โดยอาจต้องจัดโซนนิ่งพื้นที่เฉพาะ มีระบบคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ กล้องวงจรปิด และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด
รวมถึงการวางแนวทางลดผลกระทบกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งในกรณีของคลองเตยนั้น รายล้อมด้วยชุมชนแออัดที่ต้องการมาตรการคุ้มครองเป็นพิเศษ แม้การเปลี่ยนผังเมืองจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน แต่เจ้าของพื้นที่และภาครัฐต้องมีแนวทางเยียวยาและการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดแรงต้านหรือปัญหาสังคมในระยะยาว
ในภาพรวม การจะผลักดัน Entertainment Complex ที่คลองเตยให้เป็นจริงได้ในอนาคต จำเป็นต้อง “วางรากฐาน” ให้ชัดเจนทั้งในด้านกฎหมาย ผังเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และกลไกควบคุมสังคม รัฐบาลไทยยังมีเวลาศึกษาและเตรียมความพร้อมหากต้องการเดินหน้าโครงการนี้ใน
ระยะยาวเพราะแม้วันนี้จะถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อทบทวน แต่หากสามารถวางแนวทางที่โปร่งใส ครอบคลุม และมีแผนพัฒนาที่ยั่งยืน Entertainment Complex ก็ยังอาจเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก