อีอีซี -ศก. ปลุกนิคมอุตสาหกรรม ฟื้น ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน

04 มิ.ย. 2566 | 01:46 น.

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมฟื้น อีอีซี-เศรษฐกิจเดินหน้า ปลุกความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย-เทศปักหมุดสร้างความเติบโตให้ประเทศ

 

ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศปี2566 ส่อแววฟื้นตัวชัดเจน หลังโควิดหาย-ลงทุนฟื้น-ท่องเที่ยวคัมแบ็ค ดันความเชื่อมั่น นักลงทุน ได้รับอานิสงส์  สะท้อนจากข้อมูลวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วงปี 2566-2568 มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจจะหนุนความต้องการ ปัจจัยหนุนจาก                

1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีแนวโน้มจะเร่งตัวในปี 2567-2568 ในแผนพัฒนาระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) น่าจะเหนี่ยวนำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

2. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังความกังวล โควิด-19 คลี่คลาย                

3. ผู้ประกอบการต่างชาติมีแนวโน้มย้ายและขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน

 4. มาตรการกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยผู้ประกอบการนิคมฯ มีแนวโน้มปรับตัวสู่รูปแบบ Smart Park ที่มีความทันสมัยทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน ตลอดจนพัฒนานิคมฯ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการมุ่งสู่เป้าหมาย BCG Model (Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy) รวมทั้งการสร้างพันธมิตรกับธุรกิจสาขาอื่น เช่น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อหนุนการเติบโตของธุรกิจนิคมฯ อย่างยั่งยืน

 

SE วางเป้าโต

เริ่มจากนายเกริก ลีเกษม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามอีสต์ โซลูชั่น (SE) ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ เติบโต 15-20% พร้อมรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ตํ่ากว่า 27% โดยประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมปีนี้จะเติบโตต่อเนื่อง หลังฟื้นตัวจากโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐและเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น

 โดยเฉพาะเขตพื้นที่ EEC ที่มีมูลค่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์, เคมีภัณฑ์ปิโตรเคมี และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของ SE สัดส่วนมากที่สุด 3 อันดับแรกเช่นกัน

อีกทั้งกฎหมายบังคับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การลดคาร์บอนไดออกไซด์ การบริหารจัดการระบบนํ้า การควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงถือเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัททั้งสิ้น

โดยมุ่งสู่ผู้ให้บริการโซลูชั่นครบวงจร พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม เน้นกลยุทธ์พร้อมปรับตัว (Adaptability) และยืดหยุ่น (Flexibility) เพื่อรับมือทุกสถานการณ์ จัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนและซ่อมบำรุงอยู่สมํ่าเสมอ อาทิ ท่อ ปั๊ม วัสดุนวัตกรรมต่างๆ เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และมีแนวโน้มการเติบโตสูง อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาด ที่นำมาหมุนเวียนใช้ในโรงงาน เพื่อยกระดับงานบริการ (Services Solutions) ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในการลดมลพิษ นับเป็นโอกาสในการรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐาน ลูกค้าใหม่ในอนาคต อีกทั้งการบริหารจัดการสินค้าคงคลังและบำรุงรักษาเชิงป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มความสามารถ ส่งเสริมให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมีโอกาสทำกำไรได้สูงขึ้น

สำหรับมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 202.30  ล้านบาท แบ่งเป็นงานจัดจำหน่าย 146.30 ล้านบาท งานออกแบบติดตั้งระบบ 56 ล้านบาท โดยมีมีนโยบายเดินหน้าประมูลงานใหม่จากภาครัฐ และ เอกชนอย่างต่อเนื่อง

HARN ขนสินค้าใหม่ลงตลาด

ด้านนายธรรมนูญ ตรีเพ็ชร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ (HARN) เผย กลยุทธ์การเติบโตปี 66 ด้วยการรุกขายสินค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเก่า โดยสินค้าที่จะวางขายเพิ่มเติมอยู่ในกลุ่มธุรกิจติดตั้งระบบดับเพลิง Quick Installation Product เพื่อช่วยประหยัดเวลาการติดตั้งลดค่าแรง, ธุรกิจเครื่องทำความเย็นที่นำนวัตกรรมใหม่มาช่วยติดตามระบบและการทำงานของเครื่องทำความเย็น

ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไอแพด โทรศัพท์มือถือ รวมถึงธุรกิจระบบการพิมพ์ดิจิทัล 2D Barcode for Consumer Safety เป็นการพิมพ์วันหมดอายุ ป้องกันการขายสินค้าหมดอายุในร้านสะดวกซื้อ 7-eleven ณ จุดขาย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค และเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภค

ปี2566  รักษาการเติบโตให้เหมือนกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้ 1.24 พันล้านบาท เติบโต 18.91% เทียบกับปี 64 โดยปัจจุบันบริษัทมี Backlog มูลค่า 464.43 ล้านบาท ส่วนใหญ่รับรู้รายได้ปีนี้

PHOL รับสินค้าอุตสาหกรรมฟื้น

สอดคล้อง นายบุญชัย สุวรรณวุฒิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ผลธัญญะ (PHOL) ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ เติบโต 15% จาก จาก 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.สินค้าด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม  2.ธุรกิจสินค้าเพื่อการควบคุมสภาพแวดล้อม สัดส่วน 22% ของรายได้ 3.ธุรกิจสินค้าและบริการด้านระบบบำบัดนํ้าเพื่ออุปโภคหรือบริโภค สัดส่วน 3% ของรายได้

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมปี 2566 ประเมินว่าจะมีโอกาสจากภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งต่างๆจากภาครัฐ สนับสนุนดีมานด์สินค้าและบริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของบริษัท โดย บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเดิมและขยายไปยังอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเทรนด์การเติบโตในอนาคต เช่น ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น

การลงทุนภาคอุตสาหกรรม