“อีอีซี” ปักหมุด รฟท.ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบิน ต.ค.นี้

25 พ.ค. 2566 | 10:19 น.

“อีอีซี” ยืนกราน รฟท. พร้อมส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบิน ภายในเดือนต.ค.นี้ ดึงเอกชนเข้าพื้นที่ ตอกเสาเข็มภายในปี 66 เร่งพัฒนาพื้นที่มักกะสัน หลังครม. เคาะปรับพื้นที่เก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำ

 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ของ อีอีซี ว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ให้กับเอกชนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยส่วนแรกได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา เรียบร้อยแล้ว 

ขณะที่ช่วงพญาไท - บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อน้ำมัน คาดว่าพื้นที่โครงการ ฯ พร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด ภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยภายในปี 2566 จะสามารถแจ้งให้เอกชนเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ส่วนการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 และปัญหาความขัดแย้งในประเทศรัสเซีย ยูเครน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหา และมีความคืบหน้าเป็นลำดับ 
 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำ ในพื้นที่มักกะสันเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เบื้องต้นครม. ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาเก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) 

ส่วนการประชุมครั้งที่ 1/66 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ที่เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร จากเดิม 12,800 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นอีก 17,250 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 30,050 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากมติ ครม. ดังกล่าว จะช่วยแสดงให้เห็นถึงการเดินหน้าพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงซึ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้การดำเนินการปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรดังกล่าว บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำของบึงข้างโรงพยาบาล ระบบระบายน้ำเพิ่มเติมการขุดลอกคลอง และการก่อสร้างแนวคลองระบายน้ำใหม่เชื่อมบึงมักกะสันความยาวประมาณ 250 เมตร ซึ่งจะช่วยให้ในพื้นที่ ฯ มีปริมาตรกักเก็บน้ำมากขึ้น และระบบระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น