2 รถไฟทางคู่ใหม่ บูมที่ดิน ‘เหนือ-อีสาน’

15 ม.ค. 2565 | 02:00 น.

2 รถไฟทางคู่ใหม่บูม “เหนือ-อีสาน” ส่งมอบพื้นที่ แปลงแรกกลางปีนี้ พร้อมขยับตอกเข็ม ดันราคาที่ดิน เขตศก.พิเศษชายแดน เชียงของ-มุกดาหาร พุ่ง 10 ล้านอัพ/ไร่จาก 1 ล้าน

 

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงพื้นที่เวนคืน2โครงการรถไฟทางคู่ใหม่สายเหนือ (เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ) และสายอีสาน (บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม) เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทผู้รับเหมาลงมือก่อสร้างส่งผลทำให้เกิดความคึกคักโดยเฉพาะราคาที่ดินซึ่งแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมยอมรับว่า

ขยับสูงเกิดการปั่นราคา ขณะการฟังเสียงสะท้อนประชาชนเจ้าของพื้นที่ต่างต้องการให้รถไฟทั้งสองเส้นทางเข้าพื้นที่  พร้อมเรียกร้องค่าชดเชย ดังนั้นได้มอบให้รฟท.พิจารณาอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดการบานปลายของงบประมาณที่จัดสรรไว้กว่า 10,000 ล้านบาท

 

 โดยเส้นทางสายเหนือ สามารถส่งมอบพื้นที่แปลงแรกบริเวณสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ ให้กับ กลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) จุดเริ่มต้นโครงการสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กิโลเมตรมูลค่า 26,599.16 ล้านบาทส่วนการส่งมอบพื้นที่ทางคู่สายอีสานแปลงแรก บริเวณสถานี บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ในเดือนกันยายนนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ หลังจากรฟท.ลงนามสัญญาร่วมกับผู้ชนะการประมูลจ้างก่อสร้างแล้ว เบื้องต้นผู้รับจ้างต้องดำเนินการส่งแผนงานและการประกันภัยด้านก่อสร้างทุกกรณีภายใน 30 วัน ให้กับรฟท.ส่วนสัญญาที่2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ที่มีการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ

ผู้รับจ้างต้องส่งรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา เพื่อขุดเจาะสำรวจในการก่อสร้างด้านอุโมงค์พร้อมเสนอแผนการสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อจัดทำรายงานทางธรณีวิทยา ภายใน 30 วันนับจากวันที่ลงนามสัญญา คาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี เปิดให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2571

ทั้งนี้พื้นที่ในการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เบื้องต้นรฟท.ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่เวนคืนที่ดินบางส่วนแล้ว เช่น พื้นที่ทางราชการ พื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมชลประทาน ส่วนพื้นที่ที่เวนคืนบริเวณอื่นๆ จะเริ่มสำรวจรังวัดพื้นที่ภายในเดือนมีนาคม 2565 หลังจากนั้นจะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนเพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประกาศจ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินการทำสัญญาและโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างกันใช้ระยะเวลาราว 5 เดือน

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม หลังจากลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ชนะการประมูลแล้ว คาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2565 และเริ่มสำรวจรังวัดพื้นที่ภายในเดือนกรกฎาคม 2565

เพื่อดำเนินการเวนคืนที่ดินขอใช้พื้นที่ในการก่อสร้างโครงการฯ และกำหนดค่าทดแทนเพื่อจ่ายค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดิน ใช้ระยะเวลาราว 5 เดือน โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม 2569

 นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายเปิดเผยว่า คนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย สนับสนุนรถไฟทางคู่สายเหนือ แต่การชดเชยต้องสมน้ำสมเนื้อ ในอัตราที่ไม่แตกต่างจาก การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าอำเภอเชียงของเมื่อ 2-3 ปีก่อน ของกรมการขนส่งทางบก ที่ยอมชดเชยให้ชาวบ้านกรณีโฉนดไร่ละ 2.5 ล้านบาท ที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)

ขณะราคาที่ดินแนวเส้นทางของถนนทางหลวงชนบทหรือทช. หมายเลข 1174 (เชียงของ-เชียงราย) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟทางคู่วิ่งเข้าสู่สถานีปลายทางยังติดปัญหา กลายเป็นที่ตั้งของสำนักงานการไฟฟ้าอำเภอเชียงของบนเนื้อที่ 10 ไร่ ต้องถูกเวนคืน เพราะสร้างทับที่ตั้งตัวสถานีเชียงของ ขณะราคาซื้อขายที่ดินปัจจุบัน 10 ล้านบาทต่อไร่หากเทียบ 10 ปีก่อน 1 ล้านบาทต่อไร่

เช่นเดียวกับทางคู่สายอีสาน บริษัทพัฒนาที่ดินเตรียมนำที่ดินออกพัฒนา อย่างขอนแก่น มหาสารคาม บาทต่อไร่โดยเฉพาะมุกดาหารเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชื่อมสปป.ลาว ราคาที่ดินวิ่งไปที่ 10-20 ล้านบาท เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานรัฐลงทุนรองรับการขยายตัวด้านการค้าการส่งออก นอกจากเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่

 โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ทั้งสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของระยะทาง 323 กิโลเมตร และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565