ปั้นเกษตรกรพันธุ์แกร่ง เป็น Global Exporter บนเวทีโลก

12 ม.ค. 2565 | 03:50 น.

ปั้นเกษตรกรพันธุ์แกร่ง เป็น Global Exporter บนเวทีโลก

ประเทศไทยใช้พืชสมุนไพรเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และยารักษาโรคมาแต่โบราณ ปัจจุบันสมุนไพรไทยได้เพิ่มบทบาทสู่การแพทย์ทางเลือกซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องบรรจุแผนพัฒนาสมุนไพรไทยในแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ตั้งเป้าหมายพัฒนาสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ เสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาคมโลก ควบคู่กับการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนผู้มีรายได้น้อย ปัญหาที่ตามมาคือ หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จึงจับมือหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการเงินในครัวเรือนและธุรกิจขนาดย่อม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ริเริ่มโครงการ “EXIM เพื่อการเงินในชุมชน” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทั้งสามหน่วยงานจะบูรณาการความร่วมมือเพื่อเข้าไปให้ความรู้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพให้มีความพร้อมด้านการเงินและนวัตกรรมที่จะเริ่มต้นพัฒนาสินค้าเกษตรในชุมชนและส่งออกได้ 

เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK จึงได้ลงพื้นที่กับ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. และนายเทียบจิตต์ จันทรภูติผลากร ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสามหน่วยงาน เข้าไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่สวนปันแสน วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก อ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยมีนางสาวเสาวลักษณ์ มณีทอง ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก พร้อมด้วยเกษตรกรในเครือข่ายที่ปลูกและแปรรูปขมิ้นชันเพื่อจำหน่าย จาก อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.อุ้มผาง และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้ให้แนวคิดการทำธุรกิจตามตำราพิชัยส่งออก ‘ดิน น้ำ ลม ไฟ’ ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการว่า  การเป็นผู้ประกอบการสิ่งสำคัญคือ การสร้างฐานรากธุรกิจให้มั่นคงดั่งผืนดิน ปรับตัวให้เข้ากับตลาดดั่งสายน้ำที่เปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม เข้าถึงลูกค้าให้ไวดั่งสายลม และสร้างแบรนด์ให้ปัง ให้ดังและร้อนแรงดั่งไฟ ทั้งนี้หมายถึงการวางแผนธุรกิจที่รอบคอบและต้องมีแผนสำรอง หรือ Plan B เสมอ โควิด-19 สอนให้เรารู้ว่า เงินเชื่อไม่มีความหมาย เงินสดเท่านั้นที่จะพาธุรกิจไปรอด ผู้ประกอบการจึงต้องดูแลสภาพคล่องให้สมดุล รวมทั้งมีการจัดการความเสี่ยงรอบด้านทั้งความเสี่ยงจากการไม่ได้รับการชำระเงิน ความผันผวนของตลาด และอัตราแลกเปลี่ยน 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ยุคใหม่ ผู้ประกอบการที่กล้าดี ต้องได้ดี EXIM BANK พร้อมสนับสนุนการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะของโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นสัจธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่ง EXIM BANK จะอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกในทุกช่วงเวลา ยามเริ่มต้นการส่งออก (เกิด) ผู้ประกอบการต้องการการเรียนรู้  EXIM BANK มีบริการสินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง บริการให้ข้อมูลความรู้ผ่านการอบรมสัมมนาและคำปรึกษาแนะนำ เมื่อประสบความสำเร็จสามารถขยายกิจการให้เติบโต (แก่) EXIM BANK มีบริการสินเชื่อเพื่อขยายกิจการ/เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า การจับคู่ธุรกิจเพื่อขยายตลาด และ EXIM Thailand Pavilion ที่เป็น Platform ขายสินค้า Online บน Alibaba เมื่อธุรกิจกำลังเติบโตผู้ประกอบการพึงระลึกถึงวิกฤตที่จะต้องผ่านเข้ามาให้ต้อง “เจ็บ” จากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในหลากหลายมิติ ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs อาจมีสายป่านสั้น เมื่อเจอวิกฤตจะเจ็บหนัก EXIM BANK มีสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่ถ้าเห็นแล้วว่า โลกเปลี่ยนจนธุรกิจที่ทำอยู่ไปต่อไม่ได้แล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะ “ตาย” แล้วรีบไปเกิดใหม่หรือปรับธุรกิจตนเองใหม่ EXIM BANK มีสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ปรับปรุงกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ รวมทั้งมีบริการด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยก้าวทันเทรนด์ใหม่ของโลกด้วย

ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานโลก วว. เปรียบเสมือน “น้ำ” ที่จะใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยพัฒนาสินค้าของชุมชนให้มีมาตรฐานและคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างของตลาดต่างประเทศได้ โดยนักวิจัย วว. พร้อมลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนําในการพัฒนาการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และมีนวัตกรรมพื้นฐานที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถดูแลและจัดการได้ด้วยตนเอง เรามีห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ที่สามารถให้บริการแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถนําผลิตภัณฑ์ไปทำการทดสอบได้ สำหรับการแปรรูปและการสร้างผลิตภัณฑ์นั้น เนื่องจากผู้เริ่มต้นธุรกิจยังไม่มีทุนเพียงพอที่จะตั้งโรงงาน วว. มีโรงงานสำหรับผลิตจำนวนน้อย ๆ เพื่อทดลองตลาดถึงจำนวนมากเพื่อจําหน่าย อาทิ โรงงานเครื่องสําอาง โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) หรือ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) ที่มีเทคโนโลยีจุลินทรีย์พรีไบโอติกและโพรไบโอติกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร พร้อมในการพัฒนาสูตรสมุนไพรกับจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการต้องการจะพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของประเทศผู้ซื้อ วว. เป็นหน่วยงานที่เข้าถึงได้และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน

ด้านนางสาวเสาวลักษณ์ มณีทอง เจ้าของสวนปันแสน ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก ตัดสินใจหันหลังให้งานด้าน IT ในกรุงเทพฯ เพื่อ “กลับบ้าน” เลิกเป็นมนุษย์เงินเดือนหันมาทำการเกษตรอินทรีย์ (Organic) เต็มตัว ได้นำสมุนไพรพื้นบ้าน อาทิ ขมิ้นชัน มะกรูด พลูคาว มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับ โดยขอคำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และด้านการบริหารความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจส่งออกจาก EXIM BANK และมีเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือ แนะนำช่องทางและแนวทางการตลาด ผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันจากสวนปันแสนจึงสามารถออกวางจำหน่ายในงานแสดงสินค้า ผ่านตัวแทน และออนไลน์ ทำให้ลูกค้าต่างประเทศเช่น สหรัฐฯ และรัสเซีย ที่ต้องการสินค้า Organic ที่มีรางวัลเป็นเครื่องการันตี 

“จากที่เคยฝันไว้ว่า ถ้าประสบความสำเร็จในการสร้างป่าแห่งอาหารที่คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ขุนเขา จะนำสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกให้ได้ และจะปักธงชัยบนภูเขาแห่งบ้านเกิด จากความฝันอันเลือนลางในวันนั้น ถึงวันนี้ ดร.รักษ์ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากปักธงชัยบนภูเขาโลกแล้วจริง ๆ และอยากพาคุณค่าสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกด้วยความภาคภูมิใจของเกษตรกรในอ้อมกอดแห่งขุนเขา ณ แม่ระมาด จ.ตาก” นางสาวเสาวลักษณ์ กล่าว

ผลสำเร็จของโครงการ ได้แก่ เกษตรกรและผู้ประกอบวิสาหกิจชุมชนที่เข้าอบรมทุกคนมีความรู้ทางการเงินเพิ่มขึ้น 100% และสวนปันแสนสามารถวางขายสินค้าขมิ้นชันบนบัญชี (Account) ชื่อ “EXIM Thailand Pavilion” ซึ่ง EXIM BANK มีความร่วมมือกับ AJ Ecommerce จัดทำแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการขายสินค้าบน Alibaba.com ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 1 ปีเต็ม นอกจากนี้ ยังได้รับกรมธรรม์ประกันการส่งออกจาก EXIM BANK คุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลก วงเงินคุ้มครองสูงสุด 2 ล้านบาท

โครงการ “EXIM เพื่อการเงินในชุมชน” นับเป็นความริเริ่มของ EXIM BANK ภายใต้นโยบาย  Dual-track Policy เดินหน้าสู่การเป็น “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” ควบคู่กับการไม่ทิ้งคนตัวเล็ก ซึ่งรวมถึงเกษตรกรในชุมชน ให้สามารถเริ่มต้นส่งออกได้ โดย EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่ “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ (One Stop Trading Facilitator for SMEs)” จนทำให้ชุมชนในท้องถิ่น จ.ตาก สามารถผันตัวจาก Smart Farmer เป็น Smart Exporter ที่กำลังออกไปหาปลาในน่านน้ำที่กว้างใหญ่ในตลาดโลกผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศและแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ระดับโลก เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal